เศรษฐศาสตร์ความจน: ภาคประชาสังคม

"กับดักความยากจน" มีจริงหรือไม่?

"จน" คำนี้เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ ไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่าจน แต่ความจนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานเนิ่นนาน ฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผู้ปกครองแทบทุกยุคสมัยต่างพยายามแก้ปัญหา แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มียุคสมัยใดที่ประสบความสำเร็จ ความจน ยังคงอยู่คู่กับมนุษยชาติมาจนถึงปัจจุบัน

นักวิชาการที่ทำงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายตามความเชื่อ ฝ่ายแรกนั้นนำโดย เจฟฟรีย์ แซกส์ ที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติและผู้อำนวยการสถาบันโลกศึกษา หรือ The Earth Institute โดยเชื่อว่า ความจนนั้นเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "กับดักความยากจน" ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เป็นตัวแปรสำคัญ เช่น ไม่มีทางออกทะเล ภูมิอากาศร้อน แห้งแล้ง เกิดโรคระบาดอย่างเช่นมาลาเรียเป็นต้น ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านเงินทุนจากนานาชาติเพื่อผลักดันให้พ้นจากสภาวะกับดักก่อน ถึงจะพัฒนาต่อไปได้

ส่วนอีกฝ่ายนั้นนำโดย  วิลเลียม อีสเตอร์ลี และดัมบีซา โบโย นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมนแซกส์และธนาคารโลก โดยเชื่อว่า กับดักความยากจนนั้นไม่มีอยู่จริงและการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนนั้นจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะมันจะไปขัดขวางไม่ให้คนจนพยายามแสวงหาทางออกด้วยตนเอง ทำให้สถาบันท้องถิ่นเกิดความอ่อนแอ และคอร์รัปชัน โดยเสนอทางออกในการแก้ปัญหาด้วยหนทางที่เรียบง่ายที่สุด คือการส่งเสริมให้เกิดตลาดเสรีในประเทศเหล่านั้น โดยให้เหตุผลว่า หากมีตลาดเสรีและแรงจูงใจที่เหมาะสม ผู้คนก็จะหาหนทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ นี่ถึงจะเป็นการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน

แต่ประเด็นสำคัญจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือไม่ควร แต่อยู่ที่การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมต่างหาก แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางไหน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ ควรช่วยเหลือคนจน เพราะความยากจนนั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญากล่าวไว้ว่า ความจนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องความขัดสนเงินทองเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษณ์ด้วย เด็กหญิงผู้เฉลียวฉลาดจากแอฟริกา จะมีโอกาศได้ร่ำเรียนได้สูงแค่ไหน หากฐานะทางการเงินของครอบครัวนั้นขัดสน อาหารที่ได้รับจะเพียงพอต่อพัฒนาการของเด็กหญิงได้อย่างไรถ้าต้องอดมื้อกินมื้อ เด็กหญิงที่อาจจะเป็นหมอผู้คนพบวิธีรักษาอัลไซเมอร์ อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบโลกใหม่ และอาจจะเป็นนักเศรษฐศาตร์ที่ค้นพบวิธีแก้ปัญหาความยากจน หากเธอมีโอกาศได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ความอดอยาก

ความยากจนกับความอดอยากนั้นแทบจะมีความหมายที่ไม่ต่างกันในความรู้สึกของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความเชื่อว่าความยากจนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอดอยาก ดังนั้นนิยามของคำว่า คนจน จึงหมายถึงคนที่มีไม่พอกิน โดยใช้จำนวนเงินสำหรับซื้อหาอาหารในแต่ละวันเทียบกับปริมาณแคลอรีเป็นเกณฑ์กำหนด ดังนั้นนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจึงมักจะเกี่ยวข้องกับอาหารอยู่เสมอ

กินอิ่มถึงจะมีเรี่ยวแรงในการทำงาน นี่เป็นกลไกทางชีววิทยาพื้นฐาน ที่ใช้อธิบายว่ากับดักความจนนั้นเกิดจากความอดอยาก โดยคนจนนั้นหาอาหารได้ไม่เพียงพอต่อการประทังชีวิต ทำให้เรี่ยวแรงที่มีลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อมีแรงลดน้อยลงเรื่อยก็หาอาหารได้น้อยลงเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม คนที่มีอาหารกินเต็มอิ่มนั้นมีเรี่ยวแรงที่มากพอจะทำงานหนัก ทำให้มีรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จริงหรือที่คนจนเป็นพันล้านคนในโลกนี้เป็นคนที่กำลังอดอยาก?

จากการศึกษาการใช้ชีวิตคนจนในประเทศอินเดียพบว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 1% นั้นเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารเพียง 0.67% เท่านั้น นั่นหมายความความว่าต่อให้คนจนมีรายได้ที่เพิ่มขี้นก็จะนำไปซื้ออาหารเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่รสชาติของอาหารมากกว่าจะคำถึงถึงปริมาณแคลอรีเป็นหลัก ดังนั้นเกณฑ์ในการวัดความอดอยากโดยใช้ปริมาณความต้องการแคลอรีเป็นพื้นฐานนั้นดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า คนจนนั้นไม่ได้อดอยากเหมือนที่เหล่านักวิชาการคิด หลักฐานจากการศึกษาพบว่า แม้แต่คนที่ยากจนถึงที่สุดก็ยังอยู่นอกโซนของกับดักความยากจนจากความอดอยาก ดังนั้นกับดักความยากจนจากความอดอยากนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ความต้องการแคลอรีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสารอาหารอย่างอื่นที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะแก้ปัญหาความยากจนโดยการส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการแทน?

สุขภาพ

เราสามารถแก้ปัญหาสุขภาพให้กับคนจนทั้งโลกได้จริงหรือ?

ทุกๆ ปีจะมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 9 ล้านคน และหนึ่งในห้าของเด็กที่เสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากโรคท้องร่วง โรคท้องร่วงนั้นสามารถป้องกันไม่ไห้เกิดขึ้นได้โดยการรักษาความสะอาดโดยเฉพาะน้ำ และยับยั้งการเสียชีวิตด้วยเกลือแร่สำหรับป้องกันร่างกายขาดน้ำ เกลือแร่และคอลีนบริชสำหรับทำให้น้ำสะอาดนั้นมีราคาที่ถูกแสนถูกและหาซื้อได้ทั่วไปในแทบทุกประเทศ แต่ทำไมยังมีเด็กเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงปีละกว่า 1.5 ล้านคน?

กับดักความยากจนจากปัญหาสุขภาพ

สุขภาพ เป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาความยากจน สุขภาพที่ย่ำแย่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคร้าย หากแต่เกิดจากการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ถูกสุขลักษณะต่างหาก ดังนั้นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืนคือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟประมาณว่าประชากร 13% ของประชากรโลก ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า การเข้าถึงน้ำปะปาและระบบสุขาภิบาลนั้นมีผลอย่างมากต่อการลดลงของโรคท้องร่วง

นักวิชาการอย่าง เจฟฟรีย์ แซกส์ เชื่อว่ากับดักความยากจนอันเกิดจากปัญหาสุขภาพนั้นมีอยู่จริง แต่เราสามารถหยิบยื่นหนหางให้คนเหล่านั้นหลีกหนีจากปัญหานี้ได้ เช่นการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นน้ำประปาที่สะอาดเป็นต้น แต่เหล่านักวิชาการลืมไปว่า เราไม่สามารถบังคับให้ใครเดินบนเส้นทางที่เราสร้างให้ใด้ คนจนไม่ได้ไม่รักสุขภาพ จากการศึกษาพบว่าคนจนนั้นให้ความสำคัญในการรักษา มากกว่าการป้องกัน คนจนยอมใช้น้ำที่ไม่สะอาด แทนการจ่ายค่าน้ำประปา คนจนยอมเสียเงินมากกว่าเพื่อฉีดยาปฏิชีวนะ แทนการดื่มน้ำเกลือ สิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลหรือองค์กรเอกชนพยายามส่งเสริมให้คนจนนำไปใช้เพื่อป้องกันโรคซึ่งมีราคาที่ถูกแสนถูก แม้กระทั่งบางอย่างนั้นแทบจะให้เปล่ากลับถูกเมินเฉยจากคนจน

ทำไมของถูก ดีและมีประโยชน์กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนจน?

หากจะอธิบายด้วยหลักการทางจิตวิทยาแล้ว คนเรามักจะเห็นคุณค่าและใช้งานสิ่งที่ซื้อมาในแพง มากกว่าสิ่งของชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า คนส่วนใหญ่มักจะใช้ราคามาเป็นตัววัดคุณค่า ของฟรีหรือราคาถูกจึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่า และไม่ได้รับความเชื่อถือมากพอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของศรัทธาความเชื่อบางอย่างที่ขัดขวางไม่ให้ผู้คนใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ด้วย ดังนั้นรัฐบาลต่าง ๆ จึงต้องคิดหาวิธีการที่จะกระตุ้นและโน้มน้าวให้ประชาชนที่ยากจนเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ วิธีที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การให้การศึกษา

การศึกษากับความยากจน

โรงเรียนนั้นมีอยู่ในแทบทุกประเทศในโลก และการศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่น้อยไปกว่าระดับประถมศึกษาก็ฟรี แต่ทำไมยังมีคนจนอยู่มากมาย? นโยบายเกี่ยวกับการศึกษานั้นเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีหลากหลายแง่มุมและ แตกต่างกับไปในแต่ละประเทศ ความล้มเหลวของระบบการศึกษานั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเข้าไม่ถึงการศึกษา แล้วอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงกันแน่?

บุคคลากรทางการศึกษาไม่มีคุณภาพ

การทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาศไปโรงเรียนนั้นถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จทางการศึกษา แต่จะมีประโยชน์อะไรหากโรงเรียนไม่ได้สอนอะไรที่สำคัญให้เด็ก ๆ บุคลากรที่ทำหน้าที่ไม่ได้มีความรู้หรือมีความตั้งใจในการสอนให้เด็ก ๆ มีความรู้ ผลจากการศึกษาโรงเรียนในประเทศกำลังพัฒนาถึงอัตราการขาดงานของครูนั้นค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ นักเรียนประถมห้า 27% ในประเทศเคนยาอ่านย่อหน้าภาษาอังกฤษง่าย ๆ ไม่ได้ 30% แก้ปัญหาโจทย์การหารไม่ได้ ค่าเฉลี่ยเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างกันมากนักในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

พ่อแม่ไม่สนใจการศีกษา

การศึกษาเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง สิ่งที่แตกต่างจากการลงทุนทั่วไปคือ พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจลงทุน และลูกเป็นผู้รับผลประโยชน์ การลงทุนในการศึกษาของลูกนั้นต้องใช้ระยะเวลานานและผลตอบแทนที่ได้นั้นก็ไม่แน่นอน ดังนั้นจึงไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะตัดสินใจลงทุนในการศึกษาของลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ยากจน สิ่งสำคัญเฉพาะหน้าของพ่อแม่นั้นไม่ใช่การศึกษาของลูก แต่เป็นแรงงานของลูกต่างหาก เด็กในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะหยุดเรียนเมื่อโตพอสำหรับใช้แรงงาน พ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ประโยชน์จากเด็ก ๆ ในปัจจุบันมากกว่าจะสนใจลงทุนในอนาคตของเด็ก และเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาแบบไม่มีการศึกษา ย่อมมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็จะเจริญรอยตามพ่อแม่

ขนาดของครอบครัวกับความยากจน

มีลูกมากทำให้ยากจนจริงหรือ? หนึ่งในนโยบายสำหรับแก้ปัญหาความยากจน ที่ได้รับความนิยมในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาคือ การควบคุมประชากร โดยส่งเสริมให้มีการคุมกำเนิด นโยบายลูก 1 คนอันเข้มงวดของจีนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป ประเทศต่าง ๆ ล้วนมีนโยบายในการคุมกำเนิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแทบทั้งสิ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการขยายพันธ์ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด อัตราการขยายพันธ์ของเอธิโอเปียโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.12 คนต่อสตรีหนึ่งคน ในขณะที่สหรัฐเอเมริกานั้นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.05 คนต่อสตรีหนึ่งคนเท่านั้น  

เหตุผลหนึ่งที่เจฟฟรีย์ แซก เชื่อว่าจำนวนประชากรมีผลโดยตรงต่อความยากจนคือ การมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีพ ยิ่งครอบครัวไหนมีลูกเยอะลูกแต่ละคนก็จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากการศึกษาพบว่า ในครอบครัวขยายจะมีลูกเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้นที่ได้รับเลือกจากพ่อแม่ให้เข้ารับการศึกษา เมื่อมีทรัพยากรอย่างจำกัด ทำไมคนจนถึงยังมีลูกมาก?

คนจนต้องการมีลูกมากจริงหรือ?

ผลจากการศึกษาพบว่า เหตุผลหลักที่คนจนส่วนใหญ่มีลูกมาก เพราะเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพพื้นฐานของภาครัฐ การมีลูกมาเท่ากับมีหลักประกันว่าจะมีคนคอยเลี้ยงดูยามชรา ซึ่งเป็นเหตุผลที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเหมือนที่เหล่านักวิชาการคิด ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการสร้างหลักประกันพื้นฐานให้มีคุณภาพและคลอบคลุมให้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าต่อให้ไม่มีใครดูแลยามแก่ชรา รัฐบาลก็ไม่ทอดทิ้ง เมื่อประชาชนมีความมั่นใจในระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ ก็จะทำให้สามารถมีลูกได้เท่าที่ต้องการ ไม่ต้องมีเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกต่อไป


ขอขอบคุณเงินติดล้อที่ให้ความอนุเคราะห์หนังสืออันทรงคุณค่าที่ทำให้เข้าใจความยากจนในแง่มุมของนักเศรษฐศาสตร์ ที่พยายามแก้ปัญหาความยากจนทั่วโลก

โปรดติดตามตอนต่อไปใน เศรษฐศาสตร์ความจน: ภาคเศรษฐกิจและการเมือง