หลักการเก็งกำไรในหุ้นซิ่ง

ตลาดหุ้นนั้นประกอบไปด้วยผู้เล่นอยู่สองกลุ่มหลัก คือ นักลงทุน และนักเก็งกำไร ซึ่งหากเปรียบกับการทำสวนแล้ว บางคนปลูกผัก (Swing trade), บางคนปลูกผลไม้ (Investor) บางคนปลูกถั่วงอก (นับว่าเป็นสวนละกัน - Day trade) หรือถ้าแบ่งเป็นอาชีพก็อาจจะได้ดังนี้

  • Day trade - หาเช้ากินค่ำ
  • Swing trade - พนักงานกินเงินเดือน
  • Investor - เจ้าของกิจการ

บทความนี้เป็นการสรุปและเรียบเรียงเทคนิคการเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าหุ้นซิ่ง ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้ (Credit ท้ายบทความ) เพื่อศึกษา, ทำความเข้าใจและหวังว่าอาจจะยึดถือเป็นอาชีพในอนาคต

องค์ประกอบของการเล่นหุ้นซิ่ง

  1. ต้องรู้วิธีเลือกหุ้น
  2. ต้องรู้ว่าหุ้นที่เลือกไปได้ไกลแค่ไหน
  3. ต้องทนแรงเหวี่ยงของหุ้นให้ได้ระดับหนึ่ง

สิ่งที่จำเป็นสำหรับเลือกหุ้นซิ่ง

Candle Stick หรือ แท่งเทียน บ่งบอกราคาในแต่ละวัน ใช้สำหรับทำนายแนวโน้มราคาในวันถัดไป

Volume หรือ ปริมาณการซื้อขาย คือตัวบ่งบอกว่าหุ้นจะขึ้นไปได้แรงแค่ไหน แข็งแกร่งใหม ขึ้นนานหรือเปล่า

วิธีเลือก

เลือกโดยใช้แนวโน้ม - หุ้นที่อยู่ในแนวโน้มขาลง มีโอกาสลงมากกว่าขึ้น หุ้นที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น มีโอกาสที่จะขึ้นมากกว่าลง หาจุดกลับตัวให้เจอ -- volume ณ จุดกลับตัวไม่จำเป็นต้องมากเท่าแท่งเบรค แต่ volume แท่งเบรคแท่งใหม่ ต้องมากกว่าแท่งเบรคก่อนหน้า

Volume มา ราคาถ่าง จะซิ่งต้องมีทั้งสองมาพร้อมกัน หุ้นจะขึ้นอย่างแข็งแรงและต่อเนื่อง แรงซื้อต้องมากพอ แรงซื้อนั้นดูได้จากจำนวน volume ในแต่ละวัน

Note: volume มาราคาถ่าง แต่ใส้เทียนสั้น จะพักตัวน้อยวัน

ราคาถ่าง คือ spread ของราคากว้างกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่นวันปกติเล่นกัน 2-3 ช่อง อยู่ ๆ ราคาก็วิ่งไป 10 ช่องในวันเดียวเป็นต้น  โดยความกว้างของราคานั้นคิดเป็นเปอร์เซนต์ เช่น ถ้า ราคาเปิด 1 บาท ราคาปิด 1.30 ค่า spread จะเท่ากับ 30% หรือเท่ากับเปอร์เซนต์บวกของหุ้น ณ วันนั้น

Note: สำหรับหุ้นซิ่งราคาถ่างแล้วปิดเต็มแท่งพร้อม volume คือดีที่สุด

ทำไมต้องสนใจ spread? เราใช้ spread ของราคาในการวางแผนเข้าซื้อโดยแบ่งออกเป็นช่วงดังนี้

  • น้อยกว่า 5% : เข้าซื้อได้เลย
  • 6 - 15 % : แบ่งไม้เข้า
  • มากกว่า 15% : รอหุ้นพักตัว ราคาย่อลง volume แห้ง และแบ่งไม้เข้า

ราคาเบรค คืออะไร? ราคาเบรคในทีนี้ไม่ได้หมายถึงราคาทะลุเส้น indicator ต่าง ๆ แต่เป็นราคาปัจจุบันเทียบกับในอดีต เช่น ราคาสูงที่สุดในรอบ 20 วันเป็นต้น โดยมีช่วงที่นิยมเช่น 10, 20, 50, 100, 200 วัน และ ATH หรือ All Time High การเบรคของราคานั้นเป็นสัญญาณการกลับตัว ส่วนระดับการเบรคนั้นเป็นตัวบ่งบอกว่าราคาจะไปได้ไกลแค่ไหน เช่น ราคาเบรค 20 วันอาจจะขึ้นไปอีก 5 - 10% ในขณะเดียวกันถ้าราคาเบรค 200 วัน อาจจะขึ้นไป 10 - 30% เป็นต้น

ราคาเบรคสำคัญอย่างไร? ช่วงพักตัวหลังราคาเบรค ต้องไม่เกิน 1/3 ของแท่งเบรค จะให้ดีที่สุดคือราคาต้องไม่ต่ำกว่า high ก่อนหน้าที่มันเบรคขึ้นมา - หลักการนี้ไม่เหมาะกับ Set100 และ Set50 หรือหุ้นตัวใหญ่

ทำไมต้องพักตัว 1/3? เพราะต้องรักษาระดับราคา ถ้าต่ำมากจะมีคนมาแย่งซื้อหุ้นคืน โดยเฉพาะคนที่ขายในราคาสูงก่อนหน้า - วัตถุประสงค์หลักของการพักตัวคือ เขาต้องการให้คนขายหุ้นออก ไม่ใช่ให้คนมาแย่งซื้อ ดังนั้นถ้าต่ำเกินแรงขายจะหมด แรงซื้อจะมาแทน

Note: ดูหุ้นให้ดูที่ก้น ถ้าก้นยกสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่ายังเป็นขาขึ้น

การเบรคของ Volume : float200, float คือ volume ซื้อขายต่อแท่งเทียน ส่วน 200 คือจำนวนวันย้อนหลัง ดังนั้น float200 คือวันที่หุ้นมีจำนวน volume มากที่สุดในช่วง 200 วัน การเบรคจะเทียบจาก float200 เป็นหลักโดยแบ่งสัดส่วนเป็น 25%, 50%, 75%, 100%, 150% และ 300%

คำถาม: จุด A ราคาเบรคนิวไฮเหมือนกับจุด B แต่ทำไมราคาหลังเบรคจุด A แล้วไม่ไปต่อ? ทำไมหลังราคาเบรคจุด B แล้วไปต่อ?

คำตอบ: จุด A แม้เบรคราคา แต่ยังมีคนถือหุ้นที่ราคา ณ จุด float200 อยู่มาก คนทำราคาจึงบีบให้คนขายออกมาก่อน แล้วกวาดรวดเดียวที่จุด B

จุด float200 แต่ทำไมราคาไม่ไป? แต่กลับลดลงเรื่อย ๆ? ระดับการเบรคของ volume นั้นมีผลแปรผันโดยตรงกับช่วงความกว้างของราคา ดังนั้นต้องใช้ร่วมกัน เราจำแนกออกมาเป็น 2 scenarios ดังนี้

  • Volume มาแต่ราคาไม่ถ่าง: ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหุ้นขาขึ้น ถือลุ้นได้ ราคาจะตามมาในไม่ช้า แต่ย้ำอีกครั้งว่า ใน ขาขึ้น เท่านั้น
  • ราคาถ่างกว้าง แต่ volume นิ่ง ๆ สถานการณ์แบบนี้อันตราย เป็นการขึ้นหลอก หรือลงหลอกเพื่อสะบัดเม่า

จุดเข้าซื้อ

  1. จุดเข้าที่ 1: เข้าซื้อเฉพาะหุ้นที่อยู่ใน "ช่วงพักตัวหลังเบรค" volume แห้งแล้วเริ่มทำทรง V shape จุดเข้าที่ปลอดภัยคือ หลังจากพักตัวมาระยะหนึ่ง แล้วเกิดแท่งเทียนเขียว จ่อหรือทะลุ high ของแท่งเบรค
  2. จุดเข้าที่ 2: หลังจากทะลุแนวต้านที่ high เดิมแล้วยืนอยู่

Note: ราคายิ่งปิดไกล้กับแนวต้านเดิม โอกาสไปต่อยิ่งมีมากขึ้น - แนวต้านเดิมคือ high ของแท่งเบรค

หุ้นพักตัวที่ดี คือหุ้นที่เกิดแท่งเทียนสั้นๆ หลังเบรค ไม่ว่าแดงหรือเขียว volume ลดลงเป็นลำดับ

ข้อห้าม; ห้ามไล่ราคาไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะการเข้าซื้อ

  • ช่วงต้นสัญญาณ Spread 6 - 15% พักตัวลงมา 1/3 คือจุดเข้าที่เหมาะสม อาจจะมีแรงเหวี่ยง 2 - 3%
  • Spread +15% ต้องเข้าช่วงพักตัวเท่านั้น เพราะถ้าเข้าแล้วเกิดพักตัว 1/3 เท่ากับต้องทน -5% ดังนั้นถ้าไม่พักตัวหรือทน -5% ไม่ได้ ไม่ควรเข้า

พักตัวหรือจบรอบดูอย่างไร? ให้ดูจากราคากับ volume เหมือนเดิม ถ้าราคาลงพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของ volume ให้หนีทันที -

โดยปกติ หลังจากพักตัวเสร็จ จะมีแท่งเทียนที่ส่งสัญญานถึงการกลับตัวพร้อมไปต่อ ถือเป็นจังหวะเข้าที่ดีที่สุด

ถ้าหุ้นอยู่ในช่วงพักตัวแต่มีแท่งแดงยาววววว แต่ไม่มี volume ให้แทงสวนทันที - นี่เป็นวิธีหนึ่งที่คนทำราคา สะบัดเม่า

หลักการเก็งกำไร

แก่นคือ ให้เงินทำงานให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด เป้าหมายของการเก็งกำไร คือ 3 - 5% ต่ออาทิตย์,

NOTE: การหาหุ้นที่ขึ้น 50-100% นั้นยากมาก แต่การหาหุ้นที่ขึ้น 5-30% นั้นง่ายกว่ามาก

จะเล่นยังไงให้ได้กำไร?

  1. อย่าหวังจะซื้อที่ราคาต่ำสุด
  2. อย่าหวังจะขายที่ราคาสูงสุด
  3. อยาฝืนตลาด ถ้าเป็นขาขึ้นต้องทนรวยได้ ถ้าเป็นขาลงต้องเผ่นให้ใว
  4. อย่าซื้อไม้เดียว ต้องทยอยซื้ออย่างน้อย 3 ไม้
  5. กำหนดจุดขายทำกำไร และจุดตัดขาดทุน
  6. อย่าเสียดายถ้าขายหมู เพราะหุ้นมีให้เล่นอยู่เสมอ
  7. ซื้อด้วยเหตุผลไหน ขายด้วยด้วยเหตุผลนั้น
  8. เชื่อมั่นในตนเอง
  9. จะเล่นสั้น 2-3 วันก็อย่าไปดูพื้นฐาน 2-3 ปี
  10. อย่าโลภ มีเงินสดในมือเสมอ
  11. อย่าหวังรวยจนฐานะเปลี่ยน (ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นจะยั่งยืนกว่าการเก็งกำไร)

สภาพคล่องของหุ้นที่เหมาะกับการเก็งกำไร

สภาพคล่อง หมายถึงปริมาณการหมุนเวียนหุ้นในตลาด โดยสามารถดูได้จาก volume การซื้อขายในแต่ละวัน โดยหุ้นที่มีสภาพคล่องอยู่ที่ 5 - 10% ของปริมาณหุ้นในวันที่เบรคนั้นถือว่าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องที่เล่นได้ ยกตัวอย่างเช่น volume ในวันที่เบรคมี 100 ล้านหุ้น จำนวนหุ้นในวันปกติก็ควรจะอยู่ที่ 5 - 10 ล้านหุ้น

หุ้นที่อันตราย คือหุ้นที่มีปริมาณการเล่นต่อวันอยู่ที่หลักหมื่น เพราะซื้อได้แต่อาจจะขายไม่ออกในวันที่ไม่มีคนเล่น

Volume ไม่สัมพันธ์กับราคา เป็นอย่างไร?

ณ จุด A - volume 84 ล้านหุ้นพร้อมกับ spread 20% ขณะเดียวกัน ณ จุด B - volume 76 ล้านหุ้นแต่ spread แค่ 10% - ปริมาณ volume ไม่ต่างกันมาก แต่ spread ต่างกันครึ่งหนึ่ง นี่คือความย้อนแย้งของราคากับปริมาณหุ้น - ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากราคาวิ่งขึ้นแรงเลยมีการขายทำกำไรจากคนที่ทุนต่ำ

เจอเหตุการณ์แบบนี้ ควรทำอย่างไร? ถ้าต้นทุนสูง ควรขายออก แต่ถ้าต้นทุนต่ำ ถือรอดูสถานการณ์

สิ่งสำคัญที่สุด:

กล้าซื้อ ก็ต้องกล้าคัทลอส

ขายเมื่อไหร่?

  1. ขายเมื่อหลุดจุด stop loss
  2. ขายที่แนวต้าน
  3. ขายเมื่อไม่มีจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 2 อาทิตย์
  4. ขายเมื่อเกิดสัญญาณแท่งเทียน + volume
  5. ขายเมื่อหลุดเส้น EMA ที่กำหนด : 5, 10, 20 วันเป็นต้น
  6. ขายเมื่อจบรอบ (จบรอบเมื่อราคาหลุดเส้น EMA 50 วัน)

Credit: https://www.slideshare.net/Akarawat99/ss-47134042