Trade your way to FINANCIAL FREEDOM 5 - 7

บทที่ 5 หลักการเทรด

เทรดเดอร์ในตลาดที่ใช้ระบบในการเทรดนั้นน่าจะมีน้อยกว่า 20% และส่วนใหญ่ของระบบเทรดที่ว่านั้นก็เป็นเพียงแค่การใช้งานอินดิเคเตอร์พื้นฐาน แต่ไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริงของระบบเทรด ระบบเทรดนั้นควรใช้งานได้กับตลาดในทุกรูปแบบ ตราบใดที่ค่าความคาดหวังที่ได้จากระบบยังมีค่าเป็นบวก (นี่เป็นเพียงสมมติฐานเบื้องต้นที่นำไปสู่ความคิดเรื่องระบบเทรดของผู้เขียน)


Trend Following

The Philosophy of Trend Following หลักการเทรดแบบตามแนวโน้มนั้น เป็นหลักการที่เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ใช้กัน ก่อนอื่นเราต้องแยกสองคำนี้ออกจากกันก่อน คำว่า Trend คือทิศทางของตลาด เราจะสามารถซื้อถูก ไปขายแพงได้ ก็ต่อเมื่อตลาดมีทิศทางเป็นขาขึ้น เราสามารถทำกำไรจากการชอร์ตฟิวเจอร์ได้ ก็ต่อเมื่อตลาดมีทิศทางเป็นขาลง ส่วนคำว่า Following คือการรอให้ตลาดเกิด Trend ก่อน ถึงจะเข้าทำการเทรด

คำพูดที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักการนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือคำว่า "จงตัดขาดทุนให้สั้นที่สุด ปล่อยให้กำไรเติบโตไปเรื่อย ๆ" อินดิเคเตอร์ประเภท Trend Following นั้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมื่อไหร่ที่ตลาดกำลังจะเปลี่ยนทิศทาง เมื่อจับทิศทางได้และเข้าเทรดแล้ว เทรดเดอร์ประเภทนี้จะถือหุ้นหรือสัญญานั้นไปจนกว่าจะมีสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่านานเท่าใด

The Advantage of Trend Following ข้อได้เปรียบของการเทรดตามเทรนนั้น คือคุณจะไม่พลาดทุกรอบใหญ่ของตลาด, ค่าคอมต่ำ เพราะไม่ได้เทรดบ่อย ๆ และผลตอบแทนหรือกำไรต่อการเทรดแต่ละครั้งนั้นสูง ถึงแม้ว่ากลยุทธ์นี้อาจจะให้ความถูกต้อง น่าเชื่อถือจะน้อยกว่า 50% แต่เทรดเดอร์ก็ยังคงมีกำไร นั่นเพราะกำไรโดยรวมที่ได้จากเทรดนั้นสูงกว่าจำนวนผลขาดทุน ถึงแม้ว่าจำนวนครั้งในการขาดทุนจะมากกว่าก็ตาม

The Disadvantage of Trend Following ข้อเสียคือ Indicator ประเภทที่ใช้สำหรับติดตามเทรนนั้น ไม่สามารถระบุได้ว่าเทรนที่เกิดขี้นนั้น เป็นเทรนรอบใหญ่ หรือจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแนวโน้มเล็ก ๆ ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการเคลื่อนไหวของเทรนนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนฟันเลื่อย ถ้าหากเข้าผิดจังหวะก็อาจจะถูกบังคับให้ stop loss ออกจากตลาดไปก่อนกำหนดได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใหญ่หลวง แต่เมื่อรวมกันหลาย ๆ ครั้งก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ สิ่งสำคัญคือการเทรดแพ้บ่อย ๆ นั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เทรดเดอร์ไม่น้อยที่ต้องยอมแพ้และล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด

เทรนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตลาด ดังนั้นการเทรดตามเทรนนั้นยังคงใช้ได้อยู่เสมอ ตราบใดที่ตลาดยังคงอยู่ การเทรดตามเทรนนั้นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งเหมาะสำหรับมือใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ตลาด


FUNDAMENTAL ANALYSIS (Base on Futures Trading)

การวิเคราะห์เชิงพื้นฐานนั้นมีข้อได้เปรียบการวิเคราะห์ทางเทคนิคในเรื่องของราคาเป้าหมาย การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นสามารถบอกทิศทาง และจังหวะเวลาในการเทรด แต่ไม่สามารถบอกราคาเป้าหมายได้แม่นยำนัก แต่การวิเคราะห์เชิงพื้นฐานนั้นประมาณการเป้าหมายราคาได้ไกล้เคียงกว่า การวิเคราะห์เชิงพื้นฐานนั้นบอกทิศทางและขนาดของการเคลื่อนไหวของตลาด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และใช้เวลานานแค่ไหน

เทคนิคคอล

  • ทิศทางตลาด
  • จังหวะเวลาเข้าเทรด

พื้นฐาน

  • ทิศทางตลาด
  • ราคาเป้าหมาย

เทคนิคอล + พื้นฐาน

  • ทิศทางตลาด
  • จังหวะเวลาเข้าเทรด
  • ราคาเป้าหมาย

ดังนั้นการใช้ทั้งสองอย่างมาประกอบกันถึงจะช่วยให้การวิเคราะห์นั้นสมบูรณ์ แต่ไม่ควรทำการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ต่อให้คุณเรียนมาแล้วก็ตาม ควรหาบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์อื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือ เพราะการวิเคราะห์นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและข้อมูลจำนวนมาก แต่การรับข้อมูลจากแหล่งอื่นนั้น เราต้องแยกให้ออกระหว่างข่าว กับบทวิเคราะห์ บทวิเคราะห์นั้นเป็นการคาดการณ์ราคาล่วงหน้า ส่วนข่าวนั้น มักจะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง เพื่อใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

แต่ข่าวก็ใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเลย ข่าวที่คลุมเครือนั้นส่งผลกระทบต่อตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกว่ามันจะได้รับการยืนยัน ว่าข่าวนั้นเป็นจริงหรือเท็จ นั่นจึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า ซื้อเมื่อมีข่าวลือ และขายเมื่อข่าวลือนั้นเป็นจริง

นอกจากข่าวที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดแล้ว เราต้องระวังเรื่องรายงานต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาด ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ก่อนที่เราจะตัดสินว่ารายงานนั้นจะส่งผลกระทบในเชิงไหน เราจำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงความคาดหวังของตลาด เช่น รายงานบอกว่าจำนวนถั่วเหลืองที่ผลิตได้ในปีนี้ น้อยกว่าปีที่แล้ว 10% แวบแรกมันเหมือนจะเป็นรายงานที่ส่งผลกระทบในเชิงบวก แต่หากตลาดคาดหวังว่ามันจะลดลง 15% รายงานฉบับนี้จะกลับกลายเป็นส่งผลกระทบในเชิงลบทันที ดังนั้นการจะตัดสินว่ารายงานนั้นจะส่งผลกระทบด้านไหนตั้งแต่แรกนั้นไม่ใช่วิธีที่ดี ทางที่ดีควรปล่อยให้ตลาด ซึมซับข้อมูลรายงานเหล่านั้นก่อน


VALUE TRADING

หลักการพื้นฐานในการเทรดด้วยวิธีนี้คือ ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า ขายเมื่อราคาเท่ากับหรือสูงเกินกว่ามูลค่า สิ่งที่ยากสำหรับหลักการเทรดนี้คือ การหามูลค่าที่แท้จริง นิยามของคำว่ามูลค่าพื้นฐานของเบนจามิน เกรแฮม คือ สินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ถ้าเราต้องขายสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทในปีหน้า มันจะมีมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อหักลบหนี้สินแล้วจะเหลือเท่าไหร่ นั่นคือมูลค่าของกิจการนั้น นำเงินที่เหลือหารจำนวนหุ้น แล้วนำไปเทียบกับราคาหุ้น เราก็จะตัดสินใจได้ว่าราคา ณ ปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับไหน ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง

อีกวิธีหนึ่งคือ ค้นหาบริษัทที่บันทึกสินทรัพย์ของตนต่ำกว่าราคาตลาด เช่น ถ้าบริษัทถือครองที่ดินมูล 50,000$ ต่อเอเคอร์ แต่บันทึกมูลค่าของสินทรัพย์มูล 1,000$ ต่อเอเคอร์ เป็นต้น

แต่เราไม่ควรเข้าซื้อทันทีที่ค้นพบ เพราะการที่ราคาหุ้นลงนั้นย่อมมีสาเหตุหลายประการ เราควรรอให้หุ้นลงไปให้สุดเทรนก่อน รอให้ราคาลงไปสร้างฐานเป็นเวลาอย่างน้อยสองเดือน เพื่อพิสูจน์การสิ้นสุดของเทรน การรอให้ตลาดพิสูจน์การเปลี่ยนเทรนก่อนเข้าซื้อนั้น ทำให้เราได้เปรียบเหล่าผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ เพราะการเปลี่ยนเทรนเป็นขาขึ้นนั้นได้พิสูจน์ว่าเหล่ากองทุนได้ทำการเข้าถือหุ้นเป็นที่เรียบร้อย ด้วยจำนวนเงินที่มากพอที่จะผลักดันตลาดให้วิ่งขึ้นต่อไปได้


BAND TRADING

ช่วงเวลาที่ตลาดมีแนวโน้มที่ชัดเจนนั้นคิดเป็นเพียง 15% ของช่วงเวลาทั้งหมด ส่วนเวลาที่เหลือนั้นมักจะเป็นการวิ่งออกข้าง กลยุทธ์นี้ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับเทรดในสภาวะที่ตลาดไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้คือ มันสามารถใช้งานได้ดีในสภาวะที่ตลาดมีแนวโน้มเช่นกัน การเทรดตามกรอบราคานั้นมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า ตลาดนั้นเหมือนกับลูกยาง ที่เมื่อกระทบด้านใดด้านหนึ่งแล้วจะเด้งไปด้านตรงข้ามเสมอ ซึ่งลักษณะการเคลื่อนใหวของราคาแบบนี้เห็นได้ชัดในตลาดแบบ sideway

โดยกรอบราคานั้นแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ Channels, Static brands และ Dynamic brands

Channels นั้นเป็นการวางกรอบราคาไว้ที่จุดสูงสุดด้านบนกับต่ำสุดด้านล่าง ส่วนตัวอย่างของ Static brands นั้นก็เช่น Envelopes เป็นต้น หลักการคือใช้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นแกนกลาง เป็นหลักในการกำหนดกรอบ เช่น 5% เหนือเส้นกับค่าเฉลี่ยและใต้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นต้น สำหรับ Dynamic brands นั้นมีหลักการคล้ายกับ static brand แตกต่างกันที่เส้นกรอบที่กำหนดนั้นไม่ได้ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคา ยกตัวอย่างเช่น Bollinger Bands หรือ Average True Range (ATR) เป็นต้น

ส่วนหลักการเทรดนั้นคือ เข้าซื้อเมื่อราคาร่วงแตะกรอบล่าง และขายเมื่อราคาวิ่งไปแตะกรอบบน ข้อดีของการเทรดแบบนี้คือ มันใช้ได้กับตลาดในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นขาขึ้น ขาลง หรือ side way ออกข้าง สัญญานซื้อขายนั้นเกิดขึ้นบ่อย ทำให้มีโอกาสในการเข้าเทรดได้บ่อยกว่าการเทรดแบบ Trend Following แต่การเข้าเทรดบ่อย ๆ นั้นย่อมต้องแลกด้วยค่าคอมมิชชั่นที่มากขึ้นด้วย กลยุทธ์นี้จึงเหมาะกับการเทรดแบบ Day Trade มากกว่าการลงทุนระยะยาว


SEASONAL TENDENCIES

ฤดูกาลนั้นหมุนเปลี่ยนเวียนไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ความต้องการสินค้าแต่ละอย่างในแต่ละช่วงของปีนั้นแตกต่างกัน เช่นในหน้าหนาว ความต้องการน้ำมันสำหรับทำความร้อนนั้นสูงกว่าในหน้าร้อน อุปสงค์ อุปทานในแต่ละฤดูกาลนั้นก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของราคาสินค้าที่แตกต่างกันไปตามฤดู

การคาดวิเคราะห์นั้นเริ่มต้นจากการหารูปแบบราคาย้อนหลังของสินค้าโดยใช้ กรอบเวลารายสัปดาห์หรือรายเดือน จากนั้นแบ่งกราฟออกเป็นสี่ส่วน ซึ่งประกอบด้วย

  • จุดต่ำสุด
  • ช่วงขาขึ้น
  • จุดสูงสุด
  • ช่วงขาลง

จากนั้นนำฤดูกาลประจำปีเข้าครอบทับ เราก็จะมองเห็นภาพว่า ฤดูไหนที่ราคาสินค้าตัวนี้อยู่ในช่วงต่ำสุด ขาขึ้นของสินค้าตัวนี้เริ่มต้นที่ช่วงไหนของปี จะไปถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ และเริ่มตกต่ำในช่วงใด ซึ่งข้อมูลของวัฏจักรราคาที่ได้จะสามารถนำไปคาดการณ์ราคาสินค้าในปีถัดไปได้


หลักกการเทรดต่อไปนี้อยู่นอกขอบข่ายความสนใจของผม แต่หากใครสนใจไปอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือโดยตรง ซึ่งหลักการเหล่านั้นประกอบไปด้วย

  • SPREADING
  • ARBITRAGE
  • INTERMARKET ANALYSIS
  • THERE’S AN ORDER TO THE UNIVERSE

บทที่ 6 กลยุทธ์ในการเทรดที่สอดคล้องกับภาพรวมของตลาด

การมองภาพรวมของตลาดทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องใช้จินตนาการ ความเชื่อที่เรามีต่อตลาดนั้นจะส่งผลโดยตรงต่อมุมมองที่เรามีต่อตลาด และจินตภาพของภาพรวมตลาดที่เกิดขึ้นในหัวของแต่ละคนนั้นจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อและมุมมองของคน ๆ นั้น  สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเน้นย้ำคือ สิ่งถ่ายทอดออกมานั้นเป็นเพียงความเชื่อและมุมมองของเขา ณ ขณะนี้ ซึ่งความเห็นของเขานั้น ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต การมองภาพรวมของตลาดนั้นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1. ภาวะหนี้สิน - หนี้สินของประเทศ, หนี้สินของบริษัทต่าง ๆ, หนี้สินครัวเรือน
  2. วัฏจักรของตลาด
  3. ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ
  4. สภาวะการลงทุนในกองทุนรวม - กองทุนนั้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของตลาด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขี้นกับกองทุน จึงส่งผลกระทบต่อตลาด เช่นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ที่ถือกองทุนรวมส่วนใหญ่ขายกองทุนเมื่อเกษียณอายุ และถ้าเกิดคนเกษียณอายุจำนวนมากพร้อมกัน
  5. ภาษี, นโยบาย ตลอดถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของตลาดที่จะทำการเทรด หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาด เช่นต้นทุนในการเทรดที่สูงขึ้น เป็นต้น
  6. ความโน้มเอียงทางธรรมชาติของมนุษย์ อันเกิดจาก ความโลภ และความกลัว เทรดเดอร์ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอยากได้กำไรต้องซื้อถูก ขายแพง หรือตัดขายทุนให้สั้น และปล่อยให้กำไรงอกเงย แต่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ในตลาดมักจะทำตรงข้าม สิ่งสำคัญที่สุดสองประการที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จคือ จิตวิทยาการลงทุน และ การบริหารขนาดของการเทรดในแต่ละครั้ง (position sizing)

บทที่ 7 กุญแจสำคัญหกประการของระบบเทรดที่ดี

He who thinks he knows, doesn’t know. He who knows that he doesn’t
know, knows. -: Lao Tse

กุญแจสำคัญหกประการนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่จำได้ แต่จำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้ง ถึงจะสามารถพัฒนาให้เป็นระบบเทรดที่สมบูรณ์ได้

  1. ความแม่นยำในการเข้าเทรด อัตราเปอร์เซนต์ของการเทรดที่ได้กำไรต่อการเข้าเทรดทั้งหมด เช่นกำไร 6 ครั้งจากการเทรดทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งคิดเป็น 60% เป็นต้น
  2. อัตราส่วนระหว่างกำไรกับขาดทุน โดยเปรียบเทียบในหน่วยที่เล็กที่สุด เช่น ขาดทุน/กำไรโดยเฉลี่ยต่อหุ้นเท่าไหร่ (1$/10$)
  3. ต้นทุนในการเทรด เช่น ค่าโบรกเกอร์, ภาษี, ค่าบริการเป็นต้น
  4. ความถี่ในการเข้าเทรด ข้อนี้ถือเป็นตัวแปรหลักของการเทรด
  5. ขนาดของการเทรดแต่ละครั้ง ซึ่งหมายถึง จำนวนหุ้น หรือสัญญาที่เข้าเทรดแต่ละครั้ง ซึ่งมีผลโดยตรงกับข้อ 2
  6. ขนาดของเงินทุน จำนวนเงินที่เตรียมไว้สำหรับลงทุน

ข้อ 1 -4 นั้นเป็นเรื่องความคาดหวัง ส่วนข้อ 5 - 6 นั้นเป็นเรื่องของขนาด  เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญทั้งหกประการนี้อย่างชัดเจน ผู้เขียนยกเกมปาหิมะมาเป็นตัวอย่าง โดยให้จินตนาการว่าเรายืนอยู่หลังกำแพงหิมะ และเราต้องทำให้กำแพงเราแน่นหนาและแข็งแรงขึ้นทุกครั้งที่มีคนปาหิมะใส่

กำแพงหิมะ เปรียบเสมือนกับขนาดของเงินทุนที่เรามีไว้สำหรับลงทุน หากมีมากก็เหมือนกำแพงหิมะที่ใหญ่และแข็งแรง หากมีน้อยก็เหมือนกำแพงหิมะที่บอบบางง่อนแง่น ส่วนลูกหิมะที่ใช้ปาใส่กันนั้นมีอยู่สองรูปแบบคือ หิมะสีขาว เมื่อปาโดนกำแพงหิมะแล้วจะติดแน่น ทำให้กำแพงหนาและแข็งแรงขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนการเทรดที่ทำกำไร ทำให้เงินทุนงอกเงย ส่วนลูกหิมะสีดำ เมื่อปาโดนกำแพงหิมะแล้วกำแพงจะละลาย ซึ่งเทียบได้กับการเทรดที่ขาดทุน กัดกร่อนเงินทุนให้น้อยลงทุกครั้ง

การนั่งนับจำนวนครั้งของการเทรดที่ได้กำไรนั้นก็เหมือนกับการนั่งนับจำนวนลูกหิมะขาวที่ปาโดนกำแพง ผู้เล่นทุกคนอยากให้ลูกหิมะทุกลูกเป็นสีขาว เทรดเดอร์ทุกคนก็เช่นกัน ต่างปราถนาที่จะเทรดให้ได้กำไรทุกครั้ง ดังนั้นทุกคนจึงจดจ่ออยู่กับความแม่นยำในการเข้าเทรด

แต่ความแม่นยำเพียงอย่างเดียวนี้ไม่สามารถทำให้กำแพงหนาแน่นมั่นคงขึ้น ถ้าขนาดของลูกบอลหิมะขาวที่ปาติดกำแพงหิมะนั้นมีเล็กเท่าลูกกอล์ฟ ขณะเดียวกันหิมะดำที่จะละลายกำแพงนั้นใหญ่เท่าลูกฟุตบอล ดังนั้นต่อให้คุณสะสมลูกบอลหิมะขาวไว้มากแต่หากลูกบอลหิมะดำไม่กี่ครั้งกำแพงก็อาจจะพังทลายได้ กลับกัน ถ้าหิมะขาวใหญ่เท่าลูกฟุตบอล หิมะดำเท่าลูกกอล์ฟ ต่อให้คุณโดนหิมะดำบ่อยแค่ไหน กำแพงของคุณก็ยังคงแข็งแรง ขอเพียงมีลูกหิมะขาวเข้ามา กำแพงคุณก็ยิ่งมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อให้ลูกบอลหิมะขาวจะเข้ามาน้อยกว่าก็ตามที นี่คือความสำคัญของ อัตราส่วนระหว่างกำไรกับขาดทุน

การสึกหรอของกำแพงในทุกครั้งที่ถูกกระแทกจากลูกหิมะนั้นเปรียบเสมือนค่าใช้จ่ายในการเทรด ที่ทุกครั้งไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็ล้วนต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการวัดผลที่ดีที่สุดของเกมปาหิมะนั้นคือ ดูจากขนาดของกำแพงที่งอกเงยขึ้น เช่นเดียวกับการเทรด สิ่งที่วัดผลควรเป็นการเติบโตของเงินทุน มากกว่าจำนวนครั้งที่เทรดได้กำไร

ข้อมูลจากข้อที่ 1 - 3 นั้นสามารถนำมาคำนวณสิ่งที่เรียกว่า ค่าความคาดหวัง(expectancy) ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการเทรดครั้งละ 1$ เทรดทั้งหมด 100 ครั้ง ขาดทุน 99 ครั้ง ๆ ละ 1$ กำไรในการเทรด 1 ครั้งเป็นเงิน 500$

สูตรในการคำนวณคือ (กำไรรวม-(ขาดทุนรวม+ค่าใช้จ่ายในการเทรด))/จำนวนครั้งที่เทรด เมื่อนำกรณีตัวอย่างมาคำนวณจะได้ดังนี้ (500-(99+100))/100 = 3.01 ซึ่งผลลัพธ์ 3.01 คืออัตราค่าความคาดหวังต่อความเสี่ยงของเงิน 1 เหรียญ (1:3.01)

ประการถัดมาคือ ความถี่ของลูกบอลหิมะ สมมติว่าการปาใส่หนึ่งครั้ง ทำให้กำแพงหนาขึ้น 1.1 ลูกบาศก์นิ้ว ถ้าความถี่คือนาทีละหนึ่งลูก กำแพงจะหนาขึ้น 66 ลูกบาศก์นิ้วในหนึ่งชั่วโมง ในทำนองเดียวกัน แต่ถ้าการปาเกิดขึ้นเพียงชั่วโมงละ 2 ลูก ความหนาก็เพิ่มขึ้นเพียง 2.2 ลูกบาศก์นิ้วเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า 30 เท่า

การเทรด 100 ครั้งในตัวอย่างก่อนหน้า ถ้าการเทรดทั้งหมด 100 ครั้งนี้เกิดขึ้นในหนึ่งปี พอร์ตจะเติบโตเพิ่มขึ้นมาแค่ 500$ แต่หากมันเป็นการเทรด 100 ครั้งต่อวัน อัตราการเติบโตจะกลายเป็น 10,000$ ต่อเดือนหรือ 120,000$ ต่อปี

ณ ตอนนี้เรามองว่าลูกบอลหิมะจะปาเข้ามาทีละลูก แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากลูกบอลหิมะถูกปาเข้ามาหลายลูกพร้อมกัน ถ้าลูกบอลหิมะหนึ่งลูก มีขนาดเท่ากับลูกกอล์ฟ กำแพงที่โดนปาเข้าใส่อาจจะไม่มีผลสะเทือนเท่าใดนัก แต่หากเข้ามาพร้อมกันเป็นพันเป็นหมื่นลูก ผลลัพธ์ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น ขนาดของการเทรดแต่ละครั้ง ในข้อที่ 5 นั้นเป็นการกำหนดขนาดหรือจำนวนลูกบอลหิมะ ที่กำแพงหิมะสามารถรับพร้อมกันได้โดยไม่เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นหนึ่งหุ้นเท่ากับบอลหิมะ 1 ลูก และคุณจะขาดทุน 1$ ต่อหุ้น ถ้าคุณซื้อเพียงหุ้นเดียว ค่าเสียหายนี้ก็ไม่สะเทือน แต่ถ้าคุณซื้อ 10,000 หุ้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นเท่ากับ 10,000$ แต่ถ้าพอร์ตคุณมีมูลค่า 1 ล้านเหรียญ ความเสียหายนี้อาจจะคิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น แต่หากขนาดของพอร์ตคุณเท่ากับ 20,000$ ความเสียหายนั้นจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพอร์ตหุ้นแน่นอน ดังนั้น ขนาดในข้อที่ 5 กับ 6 นั้นจึงถือเป็นกุณแจสำคัญต่อผลลัพธ์โดยรวมทั้งหมด

ค่าความคาดหวัง (EXPECTANCY)

เคล็ดลับที่แท้จริงประการหนึ่งของความสำเร็จในการเทรดคือ การคิดคำนวณในแง่ของผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (reward to risk ratios) กุณแจสำคัญในการทำความเข้าใจค่าความคาดหวังก็เช่นเดียวกัน

ในการเข้าเทรดทุกครั้ง เราต้องถามตัวเองเสมอ ว่าการเทรดครั้งนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และผลตอบแทนที่จะได้มันคุ้มกับความเสี่ยงนั้นหรือไม่

"ความเสี่ยง" หรือค่า R คือขนาดของการขาดทุนที่เรารับได้ เช่นถ้าคุณซื้อหุ้นที่ราคา 40$ และจะขายมันทิ้งถ้ามันลงมาถึง 30$ ความเสี่ยงหรือขนาดของ R คือ 10$ ถ้าหุ้นตัวนี้มีโอกาสที่จะขึ้นไปที่ 60$ ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงจะเท่ากับ 2R

เราจำเป็นต้องกำหนดขนาดของ R ตั้งแต่ต้น [Root: ขนาดของ R นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ต ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าพอร์ต 100,000$ กำหนดค่าความเสี่ยงไว้ที่ 1% ของพอร์ต ดังนั้นขนาดของ R = 1,000$] ถ้าคุณได้กำไร 10,000$ จากการเทรดหนึ่งครั้ง ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในการเทรดครั้งนั้นคือ 10R แต่ถ้าคุณขาดทุนจากการเทรด 500$ จากการเทรดหนึ่งครั้ง นั่นเท่ากับว่าคุณขาดทุน 0.5R

ค่าความคาดหวัง คือ ค่าเฉลี่ยของ R จากการเทรดทั้งหมด ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครทำกำไรได้ตลอด หรือขาดทุนไปตลอด สิ่งที่ค่าความคาดหวัง บอกเราคือ เรามีความหวังเท่าไหร่? ในเกมปาหิมะ ค่าความคาดหวัง คือค่าเฉลี่ยของผลกระทบที่เกิดจากลูกบอลหิมะแต่ละลูก ในเกมการลงทุน ค่าความคาดหวัง คือ ค่าเฉลี่ยของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากทุกการเทรด [ของระบบเทรด]

ถึงตอนนี้ เราพอมองออกแล้วว่า ความแม่นยำของค่าความคาดหวังนั้นเกิดจากการเทรดในระยะยาว ตัวแปรเรื่องขนาดในข้อที่ 5 กับ 6 นั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการยืนระยะของการอยู่ในตลาดให้ยาวนาน ถ้าคุณทุ่มเงินทั้งหมดไปกับการเทรดในครั้งแรก และผลลัพธ์คือแพ้ คุณก็จะเสียเงินไปทั้งหมด และต้องออกจากตลาดไป คุณอาจจะแย้งว่า คุณกำหนดจุดตัดขาดทุนเพื่อควบคุมความเสี่ยงแทนการกำหนดขนาดของการเทรดแต่ละครั้ง แต่นั้นเป็นประเด็นในเรื่องของตัวแปรในข้อที่ 2 คือ อัตราส่วนกำไรขาดทุน ขนาดของการเทรดนั้นบอกคุณว่า ควรเอาเงินไปเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้งเท่าไหร่เมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ต ซึ่งเป็นตัวแปรต้นของตัวแปรที่ 2 อีกทอดหนึ่ง

โอกาสและค่าความคาดหวัง

โอกาส หมายถึงความถี่ในการเข้าเทรด ซึ่งเป็นตัวแปรในข้อที่ 4 บางครั้งค่าความคาดหวังต่ำ แต่มีโอกาสเข้าเทรดบ่อยกว่า ผลรวมของค่าความคาดหวังจะมากกว่า ค่าความคาดหวังที่สูงกว่าแต่โอกาสเข้าเทรดน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ค่าความคาดหวัง 0.2R แต่มีโอกาสเทรดทุกๆ 1 นาที ผลรวมของค่าความคาดหวังจะเท่ากับ 12R ต่อชั่วโมง [0.2*60=12] กลับกัน ถ้าค่าความคาดหวังเท่ากับ 0.78 แต่โอกาสเทรด 5 นาทีครั้ง ซึ่งค่าความคาดหวังจะเท่ากับ 9.36R ต่อชั่วโมง [0.78*(60/5)=9.36] เป็นต้น

กับดักมรณะของการคาดการณ์

ค่าความคาดหวังนั้นจะช่วยให้มองเห็นภาพของกับดักมรณะของการคาดเดาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อให้การคาดเดาของคุณจะแม่นยำถึง 90% แต่มันก็สามารถทำให้คุณหมดตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น ความแม่นยำของการคาดเดาอยู่ที่ 90% แต่อัตรากำไรที่ได้ต่อการเทรดแต่ละครั้งคือ 1R ขณะที่ผลขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้งอยู่ที่ 10R

ค่าความคาดหวัง = 0.9(1R) - 0.1(10R) = -0.1R

จะเห็นได้ว่าค่าความคาดหวังนั้นติดลบ ถึงแม้จะเดาถูกถึง 90% ก็ตาม ซึ่งหมายถึงคุณจะเสียเงินทุนทั้งหมดไป ดังนั้น จิตอคติในเรื่องที่อยากเป็นคนที่ถูกเสมอนั้นไม่ได้ช่วยให้อยู่รอดในตลาดได้ เทรดเดอร์ส่วนใหญ่กระเหี้ยนกระหือรือที่อยากจะควบคุมตลาด แต่ท้ายที่สุดเขาเหล่านั้นกลับเป็นฝ่ายถูกตลาดควบคุมแทน [Root: การคาดการณ์ที่แม่นยำนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเข้าเทรดนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นร่วม เดาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าเทรดทุกการคาดเดา]

ลักษณะของระบบเทรด

หนึ่ง ต้องมีหลักการในการคำนวณขนาด (position sizing) ที่รองรับกับค่าความคาดหวังที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ วิธีในการคำนวณขนาดนั้นต้องยึดโยงกับความเสี่ยงตั้งต้น ซึ่งความเสี่ยงตั้งต้น (R) นั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ต

สอง ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวของข้อมูล ไม่ว่าระบบจะดีแค่ไหน มันก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เทรดแพ้ติดต่อกัน วิธีการคำนวณขนาดของการเทรดในแต่ละครั้ง ต้องสามารถรองรับเหตุการณ์เทรดแพ้ติดต่อกันได้ [Root: เราต้องระวังเรื่องของ Gambler's Fallacy หรืออคติแบบนักพนัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่แพ้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบเทรด ไม่ได้ล้มเหลวเพราะระบบเทรดไม่ดี แต่เพราะไม่สามารถควบคุมจิตใจได้ - ข้อแตกต่างระหว่างระบบเทรดกับนักพนันคือ ระบบเทรด เงินเดิมพันจะถูกคำนวณล่วงหน้า และไม่มีการเปลี่ยนแปลงถึงแม้จะแพ้ติดต่อกันก็ตาม ส่วนนักพนัน จะยิ่งเพิ่มเงินเดิมพันเมื่อแพ้เดิมพันติดต่อกัน และลดเงินเดิมพันลงเมื่อชนะติดต่อกัน]

Photo by Markus Spiske / Unsplash