CHANGE
เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เราเปลี่ยนความคิดและทัศนคติคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของตัวเราเองได้
เราอยู่ในยุคที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน การแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักหน่วงและเชี่ยวกราก การไหลบ่าของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมที่แทบต้องนับกันเป็นวินาที เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกนี้อย่างเช่น บิล เกตส์, สตีฟ จ็อปส์ หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เราโหยหาความสำเร็จ เราต่างต้องการเป็นผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้
CHANGE นั้นเคยเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อแคมเปญของ บารัค โอบามา เพื่อสื่อถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอเมริกัน แคมเปญนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่ข้อถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์ และก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดเห็นที่หลากหลาย
CHANGE เป็นคำที่มีพลัง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคำที่มีความล่อแหลม มนุษย์ทุกคนต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่มีใครอยากถูกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกบังคับจากคนอื่น การใช้คำนี้อย่างพร่ำเพรื่อนั้นเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
CHANGE vs HELP
สองคำนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป Change นั้นฟังแล้วฮึกเหิม มุ่งมั่น ในขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงความแข็งกร้าวและแฝงไปด้วยความไม่เป็นมิตร ส่วน Help นั้นไม่ได้ทำให้ผู้ฟังเกิดความฮึกเหิมเหมือน Change แต่ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล และเป็นมิตรมากกว่า ลองนึกภาพผู้บริหารคนใหม่ที่เดินเข้ามาในห้องประชุม แล้วบอกว่า I'm here to CHANGE the company to be better. กับอีกคนที่พูดว่า I'm here to HELP the company to be better. คนไหนที่คุณรู้สึกเป็นมิตร และอยากทำงานด้วยมากกว่า คำที่ทั้งสองคนเลือกใช้นั้นสื่อให้เห็นถึงทัศนคติทางความคิดของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน และบอกได้ว่าคนไหนที่จะประสบความสำเร็จเป็นที่แน่นอน และคนไหนที่มีโอกาสล้มเหลว
CHANGE yourself AND HELP other
ทุกสังคม ทุกชุมชน ทุกองค์กร ต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง วัฒนธรรมนั้นไม่มีดีหรือแย่ มีแค่ความแตกต่างเท่านั้น เพราะวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งจำเพาะที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นฐานของแต่ละสังคม เราจึงไม่สามารถนำเอามาตรฐานของสังคมใดสังคมหนึ่งไปเป็นเกณฑ์ในการตัดสินสังคมอื่น
เมื่อเราเข้าร่วมกับสังคมใหม่ หรือไปทำงานในองค์กรใหม่ สิ่งแรกที่ต้องระวังคือการนำเอาวัฒนธรรมขององค์กรเดิมไปเป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าวัฒนธรรมขององค์กรใหม่นั้นดีหรือไม่ดี เพราะการตัดสินนัันจะส่งผลไปถึงแนวทางการทำงานโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เราไปตัดสินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งแย่ โดยใช้ประสบการณ์จากองค์กรเดิมเป็นเกณฑ์นั้นจะนำไปสู่ความต้องการในการเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น โดยขาดความเข้าใจถึงบริบทของมัน
สิ่งที่เราต้องทำคือการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมของสังคมหรือองค์กรนั้น ๆ แล้วเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ถึงบริบทของการวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ เมื่อเข้าใจถึงวัฒนธรรมองค์กรอย่างถ่องแท้แล้ว เราถึงจะสามารถวิเคราะห์ ค้นหาจุดอ่อน และจุดอ่อนเหล่านั้นคือโอากาสที่เราจะใช้ประสบการณ์ของเราเข้าไปเสริม ช่วยให้มันดีขึ้น
การพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยปราศจากความเข้าใจนั้น เปรียบเสมือนคนตาบอดที่เดินอยู่บนถนนไฮเวย์ ยิ่งถ้าเข้าไปอยู่ในจุดที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของสังคมหรือ องค์กรแล้ว ก็เปรียบเสมือนคนตาบอดที่ไปขับรถโดยสารที่มีผู้โดยสารเต็มลำรถ จะชนอะไร ตอนไหน เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่นอนคือ ความลางเลือนของปลายทาง
Change the World?
เราอยากเปลี่ยนโลก แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่รู้หรือไม่ได้ตระหนักถึงคือ โลก ไม่เคยเปลี่ยน มันแค่หมุนเวียนไปตามกาลเวลา ครั้งหนึ่ง ผู้ที่ครอบครองโลกคือไดโนเสาร์ ครั้งหนึ่งก็เคยมีอนาจักรที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นก็ดับสูญและถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลก และยิ่งไม่สามารถฝืนวัฏจักรของมันได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติของตนเองได้
เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลก แต่เราเกิดมาเพื่อผลักดันให้โลกมันกลิ้งไปข้างหน้า เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราเกิดมาเพื่อผลักให้สังคมเกิดการพัฒนา เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจใดๆ แต่เราเกิดมาเพื่อเติมเต็มธุรกิจเหล่านั้น องค์กรไม่ได้เลือกเราเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่เลือกเราเข้าไปเสริมจุดอ่อนของมัน
ทัศนคติเปลี่ยน มุมมองที่มีต่อโลกก็เปลี่ยนตาม อยากเปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของตนเองก่อน
ไม่มีวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ดีไปกว่าการสร้างแรงบันดาลใจ
การสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นยากยิ่งกว่า