EQ ตัดสินชะตากรรม

ตอนแรกที่เห็นหน้าปกหนังสือเล่มนี้ คิดว่าต้องอ่านยากและเนื้อหาก็คงจะเน้นหนักไปในด้านจิตวิทยา แต่หลังจากที่เปิดอ่านแล้วถึงได้รู้ว่าอ่านง่าย เบาสมองกว่าที่คิด โดยผู้เขียนจะเล่าเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EQ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของตัวละครในแต่ละเรื่อง มากกว่าที่จะพูดถึง EQ ตรง ๆ ในแง่ของหลักการหรือจิตวิทยา เรื่องราวต่าง ๆ ให้แง่คิดและสะท้อนถึงความเป็นจริงในการดำเนินชีวิต บางเรื่องยังแฝงไปด้วยหลักปรัชญาเซน

ถึงแม้ว่า EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ ยังไม่มีคำนิยามที่สมบูรณ์ แต่โดยภาพรวมแล้วเราสามารถระบุเอกลักษณ์ที่ผู้ที่มี EQ สูงพึงจะมีได้ เช่น

  • มีความเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง ตลอดจนถึงข้อดีข้อด้อย ทัศนคติ และคุณสมบัติของตนอย่างถ่องแท้
  • มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ตระหนักรู้ในอารมณ์ของตน และแสดงออกอย่างเหมาะสม
  • มีความสามารถในการสร้างกำลังใจให้ตนเองอยู่เสมอ
  • สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นได้ รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ และมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสม
  • มีทักษะในการสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา

นี่ข้อสรุปคร่าว ๆ ของเอกลักษณ์พิเศษของผู้ที่มี EQ สูง


หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 12 บท ซึ่งแต่ละบทจะประกอบด้วยเรื่องราวหลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เกียวข้องกับหัวข้อในบทนั้น ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น สำหรับบทแรกจะเป็นการปูพื้นเกี่ยวกับ EQ ดังเช่นที่ผู้อ่านได้สรุปไว้ด้านบนแล้ว

จงวาดรูปให้ตนเองหนึ่งรูป

บทนี้จะเป็นการค้นหาตัวตนว่า แท้จริงแล้วเราเป็นคนแบบใด สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการมองตัวเราเองในความเป็นจริงโดยปราศจากความลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ออกจากโลกจิตนาการและทำความเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่เราดำรงชีวิตอยู่  ต้องเข้าใจว่า ความคิดและการกระทำจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเท่าทั้น หาไม่แล้ว ยิ่งทุ่มเทก็ยิ่งผิดวัตถุประสงค์ เสียแรง เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

การที่เราจะสำรวจตัวตนของเราได้นั้น เราต้องอาศัยกระจก มนุษณ์ทุกคนล้วนมีกระจกเป็นของตัวเอง ไม่มีใครที่จะเป็นกระจกแทนใครได้ หากอยากรู้จักตนเองอย่างแท้จริง ต้องกำจัดเงาสะท้อนของผู้อื่นในกระจกของเราให้หมด

เมื่อเรามีกระจกแล้ว เราต้องเรียนรู้วิธีในการสำรวจตนเอง การสังเกตุคำพูด การกระทำของคนอื่นถือเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่การย้อนมองดูคำพูดและการกระทำของตนเองกลับไม่ง่าย เทคนิคที่ผู้เขียนแนะนำคือการเปลี่ยนเรื่องราวของเราเองเป็นของผู้อื่น เพื่อลดความตระหนักในตนเองลง การที่เราอีกคนหนึ่ง ยืนมองเราอีกคนหนึ่งอยู่ข้าง ๆ จะทำให้เราได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากสำรวจตนเองแล้วเราต้องตั้งใจฟังเสียงจากหัวใจเรา เพราะเสียงของหัวใจจะบอกเราถึงความต้องการที่แท้จริงในชีวิต เป็นเรื่องยากในชีวิตที่เราจะมีความจริงและความฝันเดินไปในทิศทางเดียวกันหรือเป็นเรื่องเดียวกันเสมอ เมื่อใดก็ตาม ที่ความจริงกับความฝันขัดแย้งกัน จงฟังเสียงจากก้นบึ้งหัวใจของคุณ หากเชื่อฟังคำตอบจากหัวใจ ไม่ว่าเลือกทางใหนก็ไม่ผิดพลาด ต่อให้เส้นทางที่เลือกจะลำบากกาย แต่สบายใจ ย่อมรู้สึกเป็นสุข

และท้ายที่สุด เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา และเปิดใจให้กว้างสำหรับรับฟังความคิดเห็น ทั้งด้านดี และแย่


นี่เป็นเพียงบทสรุป บางบทเท่านั้น เป็นการยากที่จะไล่เรียงสรุปมาทุกบทให้ใด้อ่าน เพราะเนื้อหาทุกบทล้วนเต็มไปด้วยสาระที่เป็นประโยชน์ หากท่านมีเวลาแล้วลองหาซื้อมาอ่านดูเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา EQ ให้ก้าวหน้า