Iterations and Pivots

ความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการ Startup นั้นจะอาศัยความมุ่งมั่นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีความยืดหยุ่นและความพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังทำให้ทันสมัยอยู่เสมอ การก้มหน้าก้มตาทำตามแผนที่วางไว้ โดยไม่สนใจอย่างอื่นนั้น เสี่ยงที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวโดยไม่รู้ตัว

Switchup 5: Build in Flexibility and a Diversified Focus

ในปัจจุบัน คนที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่คนที่ทำทุกอย่างตามแผนการทุกขั้นตอนเหมือนเช่นในอดีต แต่เป็นคนที่เข้าใจและรู้เท่าทันความต้องการของลูกค้า การก้มหน้าก้มตามทำตามแผนการที่วางไว้ทุกขั้นทุกตอนนั้นกลับกลายเป็นความเสี่ยง เพราะไม่มีแผนการใด ๆ ที่จะสมบูรณ์แบบเสมอไป ดังเช่นที่ไอเซนฮาวท์เคยกล่าวไว้ว่า

Plans are nothing, planning is everything. - Dwight D. Eisenhouwer

การวิ่งฝ่าอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางหน้านั้นเป็นเรื่องที่เหนื่อยยาก และดูไม่ค่อยฉลาดซักเท่าไหร่ สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการในปัจจุบันอยู่รอดและประสบความสำเร็จคือความคล่องตัว และการปรับตัว เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่รวดเร็วนั้น ทำให้ตลาดและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย หากสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้ทัน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว นอกจากแผนการที่ยืดหยุ่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือการมีสายตาที่ว่องไว คอยมองหาอะไรก็ตามที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น สิ่งนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังพัฒนาหรืออาจจะไม่เกี่ยวข้องเลยก็เป็นได้ ความสำเร็จของหลายบริษัทนั้น ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เขาเหล่านั้นมุ่งมั่นพัฒนาตั้งแต่ต้น แต่เกิดจากสิ่งที่สังเกตุ ค้นพบ หรือพัฒนาขึ้นในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลัก สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่จะมีแผนกค้นคว้าวิจัย แต่ในฐานะ Startup ที่มีทรัพยากรอันจำกัดและต้องโฟกัสอยู่กับผลิตภัณฑ์หลักย่อมไม่สามารถทำได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือแนะนำมีอยู่สองประการคือ หนึ่งพยายามทำทุกอย่างให้มีความยืดหยุ่น นับตั้งแต่ต้นทุนบริษัท โครงสร้าง ทีมงาน รวมไปถึงงบประมาณต่าง ๆ  สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างทีมที่มีความยืดหยุ่น สองคือการจัดลำดับความสำคัญ ให้การเรียนรู้มีความสำคัญมากกว่าผลงาน

ทีมงานที่มีความยืดหยุ่นในที่นี้หมายถึง ความยืดหยุ่นทางโครงสร้าง มากกว่าที่จะยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ สมาชิกในทีมสามารถที่จะสลับสับเปลี่ยนบทบาทได้ตลอดเวลา นอกจากเรื่องโครงสร้างแล้ว ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาก็มีผลเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกูเกิ้ล บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อนุญาติให้พนักงาน สามารถใช้เวลางาน 20% ไปทำในเรื่องอะไรก็ตามที่ตนสนใจและคิดว่ามันจะมีประโยชน์ต่อบริษัท และด้วยเวลา 20% นี้ทำให้กูเกิ้ลมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้ให้บริษัทมากกว่าสิ่งที่พนักงานใช้เวลาที่เหลือทำในแต่ละวันเสียอีก สิ่งที่กูเกิ้ลให้พนักงาน นอกจากเวลาที่ยืดหยุ่นแล้ว คือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้นหากผู้คนในสังคมไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้

The humility is the parent of learning, it allows you to learn from anyone you meet, anything you touch.

การเรียนรู้จะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อว่าการเรียนรู้นั้นเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องประกอบด้วยสองส่วนสำคัญคือ Mind Set และวินัย ศาสตราจารย์ Carol Dweck จาก Stanford เรียก Mind Set ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ว่า Growth Mind Set ซึ่งจากการสังเกตของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น มักจะมีคุณลักษณะในเรื่องการเรียนรู้ที่สำคัญ 5 ประการคือ

  1. ชอบความท้าทาย ชอบทำในสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องยาก
  2. ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แต่ไม่ใช่คนที่หลับหูหลับตาเดินชนกับอุปสรรค สิ่งกีดขวางต่าง ๆ  แต่จะคอยมองหาวิธีการ หนทางใหม่ ๆ ในการเอาชนะอุปสรรคนั้น ๆ ถึงแม้บางครั้งอาจจะต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่ก็ตาม
  3. มีความเชื่อว่าการทำงานหนักจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ความพยายามที่มากขึ้นจะทำให้ผลการที่ออกมานั้นดีขึ้นด้วยเช่นกัน
  4. มองความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ดังนั้นจึงไม่กลัวหากต้องทำผิดพลาด หรือล้มเหลว
  5. ชื่นชน เชิดชูและค้นหาแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จ มากกว่าการอิจฉาริษยา

ทั้ง 5 ประการนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามนิยามของคำว่า Growth Mind Set ของศาสตราจารย์ Carol Dweck ทั้งหมด

การเรียนรู้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดแนวทางและเป้าหมาย เพื่อให้สามารถประเมินและวัดผลการเรียนรู้ได้ สิ่งที่ใช้ในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการเรียนรู้คือ ข้อมูล สำหรับบางบริบทแล้วการเรียนรู้จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้หากปราศจากข้อมูลพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น

  1. การเติบโตของบริษัท, สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อใช้หาหนทางสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง Startup ส่วนใหญ่ที่จ่ายเงินทำการตลาดนั้นมีเป้าหมายหลักอยู่สองประการ หนึ่งคือ Drive Sale หรือการเพิ่มจำนวนลูกค้า เพิ่มยอดขายเป็นหลัก สองคือ Drive Learning หรือรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษา เรียนรู้ ค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด เป้าหมายหลักของทั้งสองอย่างก็เพื่อให้บริษัทเติบโตก้าวหน้า
  2. ค้นหาข้อมูลอื่นที่มีประโยชน์ มีคุณค่า, นำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียนรู้ ต่อยอดเพื่อค้นหาข้อมูลที่มีประโยชน์ คุณค่ามากพอที่จะเปลี่ยนเป็นเงินได้
  3. เร่งการเรียนรู้เร็วให้ขึ้น, การมีข้อมูลเบื้องต้นนั้นช่วยให้การเรียนรู้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเรียนรู้ที่เร็วขึ้นนั้นมีประโยชน์มหาศาลต่อบริษัทประเภท Startup การเรียนรู้ที่เร็วกว่าคู่แข่งในตลาดย่อมหมายถึงการเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้นำย่อมมีโอกาศที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า นอกจากนี้การเรียนรู้ที่เร็วขึ้น ยังช่วยประหยัดเงินทุนหลาย ๆ อย่าง เช่นประหยัดเงินทุนในการพัฒนาในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นต้น
  4. การตัดสินใจ, ในฐานะผู้ประกอบการนั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจ การตัดสินใจนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลมารองรับที่แน่นหนาพอ เพราะทุกการตัดสินใจนั้นหมายถึงทิศทางในอนาคตของบริษัทและแน่นอนว่ามันหมายถึงอนาคตของคนอีกหลายคนด้วย เช่นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของบริษัท การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย การลดหรือเพิ่มคน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจว่าจะทำต่อหรือหยุด เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญต่อจากการเรียนรู้คือ หลักการคิด ผู้ประกอบการนั้นจำเป็นต้องคิดทั้งในเชิงลึก และในมุมกว้าง (Vertical and Lateral) คิดในเชิงลึกคือ หลักการ ขั้นตอน และกระบวนการทำงานต่าง ๆ ส่วนมุมกว้างคือการคิดนอกกรอบจากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งการคิดนอกกรอบนี้เป็นต้นธารของนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นที่ AirBnb ที่ต้องการเปิดโรงแรมโดยไม่มีโรงแรมเป็นของตนเองแม้แต่แห่งเดียว หรือ Grab ที่ทำกิจการขนส่งโดยไม่มีรถสำหรับส่งของเป็นของตนเองแม้แต่คันเดียว เป็นต้น

เหตุผลหลักของการเรียนรู้นั้น ก็เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราให้ดียิ่งขึ้น ค้นหาแนวทางที่จะนำพาบริษัทให้ประสบความสำเร็จ สำหรับการพัฒนานั้นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้คือ วงจรในการพัฒนาหรือ Iteration ซึ่งก็คือการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาโดยวิธีการที่ได้รับความนิยมคือ Build-Measure-Learn ซึ่งนิยามโดย Eric Raise ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Lean Startup

และเมื่อเรียนรู้ถึงจุด ๆ หนึ่ง จุดที่มีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจในเรื่องทิศทางในอนาคตของบริษัทหรือ Pivot เพื่อปรับปรุงทิศทางที่จะไปสู่เป้าหมายให้แม่นยำขึ้น เร่งให้ประสบความสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น การ Pivot นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องหลักดังต่อไปนี้

  1. Market Secment Pivot การเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับ Startup แทบทุกบริษัท จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการค้นพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดิม
  2. Customer Problem Pivot การเปลียนแปลงวิธีแก้ปัญหา จะเกิดขึ้นเมื่อมีการค้นพบวิธีใหม่ในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าวิธีการเดิมที่ใช้อยู่
  3. Feature Pivot การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงฟีเจอร์เพื่อรองรับความต้องการ หรือเพื่อให้ตรงกับความต้องการใช้งานของลูกค้า

สรุปความคือ สร้างความยืดหยุ่น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ นำข้อมูลที่ได้จากเรียนรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น นำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์หาหนทางที่จะนำพาบริษัทให้ไปถึงเป้าหมาย ประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุด


Switchup 6 - Think Milestones Not Time: Operational Efficiency