Mental Accounting: จิตวิทยาว่าด้วยการตัดสินใจใช้เงิน
Mental Accounting คืออะไร
Mental accounting เป็นคำศัพท์ทางด้าน behavioral economics หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่ถูกนำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 20171
Mental accounting หมายถึงการที่คนเรามองคุณค่าของเงินไม่เท่ากัน คุณค่าของเงินขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งเงินนั้น ๆ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจใช้เงินที่ได้มา
Mental Accounting ทำงานอย่างไร?
เงิน ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วเงินทุกบาทมีมูลค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน หรือจะใช้ไปที่ไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่คนมักจะแบ่งเงินออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามวัตถุประสงค์หรือแหล่งที่มาของเงิน และมองว่าเงินในแต่ละกลุ่มนั้นมีคุณค่าไม่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น คนอาจจะมองว่าเงินเดือนที่ได้รับจากการทำงาน มีค่ามากกว่าเงินที่ได้จากการถูกหวยหรือเงินที่ได้คืนจากการเสียภาษี กล่าวอีกอย่างคือ มองว่าเงินดังกล่าวนั้นเป็นลาภลอย ดังนั้น คนจึงมีแนวโน้มที่จะใช้เงินที่ได้จากลาภลอยเหล่านี้ ไปซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยหรืออะไรก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร การตัดสินใจจ่ายเงินประเภทนี้นั้นง่ายกว่าเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงเช่นเงินเดือนเป็นอย่างมาก หลายคนแทบไม่ต้องคิด เราจึงเห็นคนเลี้ยงฉลองอย่างเอิกเกริกเมื่อถูกหวยอยู่บ่อย ๆ
อีกตัวอย่างหนึ่ง คนอาจจะมองว่าเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากนั้นมีคุณค่ามากกว่าเงินที่อยู่ในกระเป๋าเงิน หรือบัตรเครดิต ดังนั้น คนจึงมีแนวโน้มที่จะไม่อยากจะถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝาก แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แต่จะเลือกใช้เงินสดหรือบัตรเครดิตแทน ถึงแม้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมก็ตาม
Mental Accounting ทำให้การตัดสินใจใช้เงินเกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล ส่งผลเสียโอกาสนำเงินที่ได้นั้นไปทำอย่างอื่นที่ประโยชน์มากกว่า หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ค่าโอกาสหรือ opportunity cost ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราต้องสละไป เมื่อเลือกทำสิ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเลือกใช้เงินที่ได้จากการถูกหวย ไปซื้อรถยนต์ ค่าโอกาสของการใช้เงินนั้น อาจจะเป็นการลงทุนในหุ้น หรือการชำระหนี้ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือผลลัพท์ที่ดีกว่า เป็นต้น
Mental Accounting จิตวิทยาพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงมันได้ โดยพึงระลึกถึงมูลค่าของมันตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเงินทุกบาทเท่ากันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน หรือจะใช้ไปที่ไหนก็ตาม นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงค่าโอกาสของการใช้เงิน และประเมินผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้เงินทุกครั้ง
พึงระลึกไว้เสมอว่า เงิน ไม่ว่าได้จากไหนก็ตาม หากมันเป็นของเรา ทุกบาททุกสตางค์มีคุณค่าและมูลค่าเท่ากันเสมอ