[Series] Running Lean - Introduction

หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็น Must Read อีกเล่มสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง Startup และถือเป็นภาคต่อจากหนังสือ The Lean Startup ของ Eric Ries ซึ่งเขียนโดย Ash Maurya, The Lean Startup ช่วยให้เข้าใจกระบวนการในการทดลอง เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จ Running Lean จะใขข้อข้องใจว่า Startup ที่ประสบความสำเร็จแตกต่างจาก Startup ที่ล้มเหลวอย่างไร และทำไมอัตราส่วนของผู้ที่ประสบความล้มเหลวถึงได้สูงยิ่งเมื่อเทียบกับ Startup ที่ประสบความสำเร็จ

จากสถิติของ cbinsights.com พบว่า 70% ของ Startup ประสบความล้มเหลว โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เดือนนับจากวันที่ได้รับเงินทุน นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราเฉลี่ยของเงินทุนที่ได้รับอยู่ที่ 1.3 ล้านเหรียญ และในจำนวน Startup ทั้งหมดมีเพียง 1% เท่านั้นที่ไปถึงระดับ Unicorn*

credit: https://www.cbinsights.com/research/venture-capital-funnel-2/

นิตยสาร Fortune ได้ทำการสำรวจถึงสาเหตุที่ทำให้ Startup ประสบความล้มเหลว โดยพบว่าสาเหตุหลักคือ ผลิตภัณฑ์/บริการไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งมีตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจคือ 42% สาเหตุรองลงมาคือทุนหมดอยู่ที่ 29%

credit: https://fortune.com/2014/09/25/why-startups-fail-according-to-their-founders/

จากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าการจะเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จนั้นยากเย็นยิ่ง แต่อย่าเพิ่งท้อ Running Lean จะช่วยให้เราเข้าใจว่าคนจำนวน 1% นั้นเขาแตกต่างจากทั้งหมดอย่างไร และเขาทำอย่างไรถึงสามารถไปยืนอยู่ ณ จุดนั้นได้

บทนำ

โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยโอกาส ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการจะสร้างนวัตกรรมใด ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องยากและใช้ต้นทุนอะไรมากมายนัก แต่ทำไมเหล่าบริษัท Startup จำนวนมากยังคงล้มเหลวไม่เป็นท่า สิ่งที่แบ่งแยกผู้ที่ล้มเหลวกับผู้ที่ประสบความสำเร็จคือ แผนการดำเนินงาน สิ่งที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จแตกต่างไม่ใช่แผนงานที่ดีเยี่ยมตั้งแต่ต้น แต่คือการค้นพบแผนการที่ดีก่อนที่ทรัพยากรจะหมดไป

Running Lean คือกระบวนการในการช่วยค้นหาแผนการดำเนินงานที่ใช้งานได้ก่อนที่ทรัพยากรที่มีอยู่จะหมดไป นี่คือวัตถุประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้

ทำไม Startup ถึงยาก?

ประการแรก คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จ ประการที่สอง คือการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ตรวจสอบจนกว่าผลิตภัณฑ์จะถูกพัฒนาจนเสร็จ และประการสุดท้ายคือการที่ลูกค้าไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการที่แท้จริง ถึงแม้ว่าลูกค้าจะมีคำตอบทุกอย่างแต่บางครั้งก็ตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่ต้องการที่แท้จริงคืออะไร เหมือนเช่นที่ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัท Ford Motor เคยกล่าวไว้ว่า

If I had asked people what they wanted, they would have said faster horses.

ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าที่บอกว่า "Faster horses" คืออะไรที่เร็วกว่าม้า แต่ลูกค้าก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ดังนั้นกระบวนการที่ถูกต้องคือการทำให้ลูกค้าอธิบายปัญหาของเขาอย่างชัดเจน แล้วเราก็หาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น แทนการทำทุกอย่างตามความต้องการของลูกค้า เหมือนดังเช่นที่ Steve Jobs กล่าวไว้ว่า

It is not the customer's job to know what they want.

มีทางไหนทีดีกว่าบ้าง?

Running Lean นำเสนอแนวทางที่ดีกว่า เร็วกว่า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จซึ่งประกอบด้วย

  • ความรวดเร็วในการพัฒนา, การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับจุดที่สำคัญอย่างแท้จริง
  • การทดสอบวิศัยทัศน์ของผลิตภัณฑ์โดยใช้การวัดผลจากพฤติกรรมของลูกค้า
  • การเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • การตรวจสอบทั้งตัวผลิตภัณฑ์และตลาดไปพร้อม ๆ กันโดยการกำหนดวงรอบสั้นๆ ในการตรวจสอบและทำการตรวจสอบซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงการพัฒนา
  • ความมีวินัยและความเข้มงวดกวดขันในกระบวนการพัฒนา

Running Lean อ้างอิงถึงวิธีการและแนวคิดจากนักคิดต่างๆ โดยประกอบด้วยสามเรื่องหลักดังต่อไปนี้

Customer Development

เป็นคำที่ Steve Blank ใช้ในการอธิบายกระบวนการคู่ขนานในการทำให้ลูกค้าให้ความเห็นต่อตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการในการพัฒนาผลิตภํณฑ์ คำนี้ถูกใช้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Four Steps to the Epiphany หากจะสรุปให้สั้นที่สุดก็คือ

Get out of the building.

มีแต่การเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าโดยตรงเท่านั้นถึงจะรับรู้ได้ถึงความต้องการที่แท้จริง

Lean Startup

คำนี้ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของ Eric Ries เลยก็ว่าได้ เป็นการสังเคราะห์หลักการหลักๆ 3 เรื่องได้แก่ Customer Development, Agile และ Lean ออกมาเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง คำว่า Lean ในแวดวงการพัฒนามักจะถูกตีความหมายว่า ราคาถูก แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือการใช้ทรัพยากรให้มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด แต่การหมายถึงราคาถูกก็ไม่ผิดไปซะทีเดียว เพราะว่าทรัพยากรที่สำคัญก็ยังคงเป็นเงินทุนอยู่ดี อย่างไรก็ตามทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่ Lean Startup ชี้ให้เห็นและพยายามโน้มน้าวให้เราใช้มันให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ให้คุ้มค่าที่สุด คือ เวลา หากจะสรุปให้สั้นที่สุดถึงคำจำกัดความของคำนี้ก็คือ การใช้วงรอบในการทดสอบวิศัยทัศน์ของผลิตภัณฑ์ให้สั้นที่สุดและรวดเร็วที่สุด เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้ได้เร็วที่สุดก่อนที่ทรัพยากรในมือจะหมดไป ดังที่ Eric Rise กล่าวไว้ว่า

Startup that succeed are those that manage to iterate enough times before running out of resources.

Bootstrapping

เป็นเทคนิคในการลดหนี้สินหรือความต้องการด้านเงินทุนทั้งจากธนาคารหรือนักลงทุน หากจะสรุปสั้นๆ ในบริบทของ Startup ก็คือ

Right action, right time.

โดยเนื้อแท้แล้วการทำ Startup คือการจัดการกับความวุ่นวายอย่างแท้จริง แต่ด้วยความจำกัดของทรัพยากรทำให้เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ทรัพยากรไปกับสิ่งที่สำคัญและเกิดประโยชน์ที่สุด

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสี่ส่วนสำคัญประกอบด้วย

Roadmap

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายให้เห็นภาพรวมของแนวทางแบบ Running Lean โดยจะอธิบายถึงหลักการที่สำคัญสามประการซึ่งจะทำให้เห็นถึงแก่นแท้ของหลักการนี้

Document Your Plan A

ส่วนนี้จะเป็นการอธิบายกระบวนการในการเขียน Vision หรืออีกนัยหนึ่งคือแผนการตั้งต้นให้อยู่บนกระดาษแผ่นเดียวโดยใช้ฟอร์แมตที่เรียกว่า Lean Canvas โดยอ้างอิงมาจาก Business Canvas

Identity the Riskiest Parts of Your Plan

ขั้นตอนนี้จะช่วยระบุว่าส่วนไหนของแผนการจำเป็นต้องได้รับการเอาใจในก่อนเป็นอันดับแรก เป็นกระบวนการเรียนรู้ในการคัดกรองปัญหา และจัดลำดับความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการในการทดลองในขั้นต่อไป

Systematically Test Your Plan

เป็นกระบวนการในการทดสอบแผนการที่เราวางไว้ โดยทำการทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้แผนการที่เหมาะสม

ทำไมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้?

Life's too short to build something nobody wants.

.... to be continue.

*Unicorn คือระดับสูงสุดของเงินทุนที่ได้รับคือมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ