Shortcut your STARTUP - Introduction

Ten ways to speed up entrepreneurial success, การจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะสตาร์ทอัพนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สองพี่น้อง Courtney และ Carter Reum จะมาแนะแนว ทางลัดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ผ่านประสบการณ์ในฐานะนักลงทุน และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ทุกตัวอักษร ทุกย่อหน้าล้วนกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำจริงทั้งสิ้น หนทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จ คือเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น ดังนั้นหนังสือถือเป็นอีกหนึ่งเล่มที่ผู้ที่ใฝ่หาความสำเร็จทั้งหลายไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความเจริญก้าวหน้าของอินเตอร์เนต ทำให้การเข้าถึง ทรัพยากร ข้อมูลข่าวสารและแหล่งเงินทุนเปิดกว้างขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจ หรือก่อตั้งบริษัทจึงใช้ต้นทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อินเตอร์เนตทำให้ธุรกิจเกิดใหม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมเป็นวงกว้างและเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้อยู่รอดและเอาชนะคู่แข่งได้มีอยู่สองประการคือ ความรวดเร็วและความยืดหยุ่น ดังนั้น กลยุทธ์ แนวคิดและเทคนิคต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สัมพันธ์กับสองประการนี้เสมอ

ด้วยต้นทุนในการก่อตั้งบริษัทที่ต่ำลงทำให้การแข่งขันยิ่งดุเดือดขึ้น จากสถิติที่สำรวจพบว่าในแต่ละเดือนจะมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณ 550,000 ธุรกิจในประเทศอเมริกา ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะล้มหายจากไปก็ตาม แต่การแข่งขันที่เข้มข้นก็บีบบังคับให้บริษัทดั้งเดิมทั้งหลายต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือและแข่งขันกับคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ มิฉะนั้นผู้ที่จะจากไปก็คือเหล่าบริษัทดั้งเดิมเหล่านี้ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับหลายบริษัท

RAPID BRAND BUILDING

ในอดีต การสร้างแบรนด์ให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล และหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือเวลา ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป การจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักไม่จำเป็นต้องใช้เวลานนานเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา หลายบริษัทสามารถสร้างชื่อเสียงและมูลค่าหลักร้อยล้านดอลล่าร์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี

ปัจจัยห้าประการที่ทำให้แบรนด์ของธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบด้วย

  1. คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ทโฟน ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและราคาที่ถูกลงทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้งานได้ไม่ยากนัก สิ่งที่ตามมาจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน ประการแรกคือ การเข้าถึงผู้คนทำได้ง่ายขึ้น และทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ประการที่สองคือ การเข้าถึงลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายทำได้ง่าย และทำได้ในราคาที่ถูกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้ประกอบการหรือบริษัทสามารถส่งสินค้าหรือบริการของตนถึงลูกได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนกลางเช่นในอดีต และลูกค้าเองก็มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น การซื้อขายแลกเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Amazon , Lazada, Shopee เป็นต้น อิทธิพลของพ่อค้าคนกลางถูกลดทอนลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต
  2. ลักษณะการสื่อสารของแบรนด์ที่เปลี่ยนจากการสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นการสื่อสารผ่านผู้บริโภค การเติบโตของสังคมออนไลน์ดึงดูดให้ผู้คนใช้เวลากับสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ในอดีตหากคุณใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วรู้สึกดี รู้สึกชอบสิ่งที่คุณทำได้คือบอกต่อคนรอบตัว ซึ่งก็อาจจะมีเพียงไม่กี่คน แต่ในปัจจุบันหากคุณโพสความรู้สึกเหล่านั้นลงบนสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นที่รับรู้ของผู้คนหลายร้อยถึงหลายพันคน และนั่นจะส่งผลต่อยอดขายของผลิตภัณฑ์นั้นโดยตรง จะเห็นได้ว่าผลลัพท์จากการบอกต่อบนสังคมออนไลน์มีอทธิพลเป็นอย่างมากต่อตัวผลิตภัณฑ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในปัจจุบัน ผู้คนเชื่อในตัวบุคคลมากกว่าแบรนด์ เชื่อผลจากการรีวิว ยอดไลท์ ยอดแชร์เป็นหลัก การทำการตลาดก็จำเป็นต้องปรับตัวตาม  ยกตัวอย่างเช่นการให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ที่กดไลท์ กดแชร์บนสังคมออนไลน์เป็นต้น อิทธิพลของสังคมออนไลท์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ก็มีท้้งด้านบวกและด้านลบ เช่นเดียวกับน้ำที่พยุงเรือได้ก็ล่มเรือได้เช่นกัน ดังนั้นเจ้าของผลิตภัณฑ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นตามด้วย
  3. เครื่องไม้เครื่องมือและช่องทางในการทำการตลาดที่หลากหลายขึ้น กลยุทธ์ในการการดึงดูดลูกค้าผ่านการทำการตลาดแบบ สาดโฆษณาออกไปนั้นเริ่มจะไม่ได้ผล บิลบอร์ด, นิตยสารเริ่มเป็นที่สนใจน้อยลง และมีต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจุบันข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้ถูกรวมรวมจัดหมวดหมู่ไว้ ทำให้สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดได้ตรงกับตัวสินค้าหรือแบรนด์ได้ง่ายขึ้น และราคาถูกลง แพลตฟอร์มเช่น Facebook, Pinterest หรือ Instagram คือสิ่งที่เข้ามาพลิกโฉมวงการการตลาดให้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตโดยสิ้นเชิง แพลตฟอร์มเหล่านี้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคอย่างละเอียด จำแนกและจัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้การเลือกกลุ่มเป้าหมายมีความแม่นยำเป็นอย่างยิ่ง
  4. ค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดที่ถูกลง จากการพลิกโฉมทางการตลาด ทำให้การทำโฆษณามีราคาที่ถูกลงและง่ายขึ้น จากเดิมที่กิจกรรมนี้ถูกจำกัดอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทุนทรัพย์หนาเท่านั้น อันเนื่องมาจากต้นทุนในการโฆษณาที่สูง ทำให้บริษัทเล็กที่มีทุนทรัพย์จำกัดไม่สามารถทำได้ หรือถึงแม้ทำได้ก็อยู่ในวงจำกัด ไม่สามารถขยายวงกว้างเช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ได้ แต่ปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถส่งตรงโฆษณาสินค้าของตนเองไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วในราคาที่เหมาะสม ผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ เป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการได้ดียิ่งขึ้น
  5. การเพิ่มขึ้นของทุนทรัพย์ ในอดีต การหาทุนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากอันเนื่องมาจากจำนวนนักลงทุนที่ยังมีน้อย และการเข้าถึงนักลงทุนของผู้ประกอบการทำได้ยากและถูกจำกัดอยู่ในแวดวงที่จำกัด แต่ในปัจจุบัน จำนวนนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบนักลงทุนอิสระหรือองค์กร เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยจำนวนเงินทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการที่วิศัยทัศน์จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพื่อที่จะเป็นผู้นำในตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด และด้วยทุนทรัพย์ที่มากขึ้นช่วยให้การขยายตลาดทำได้รวดเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้การแข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้นด้วย

TIME IS YOUR SCARCEST RESOURCE

เมื่อพูดถึงทรัพยากรที่สำคัญสามประการ คือ เวลา ความรู้ และเงินทุน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเวลาเพราะเป็นสิ่งเดียวที่เราหาเพิ่มไม่ได้ และสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของสตาร์ทอัพคือการเรียนรู้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ ทดลอง ทดสอบ ดังนั้นการเริ่มลงมือทำก่อนนั่นหมายความว่าเราเริ่มเรียนรู้ก่อน ผู้ที่รู้ก่อนย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่เริ่มเรียนรู้ทีหลัง

เราคงเคยได้ยินคำว่า "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" สำหรับสตาร์ทอัพแล้วคำนี้จริงยิ่งเสียกว่าจริงเสียอีก สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่เหล่านักลงทุนทุกวันนี้ให้ความสนใจคือการเติบโตของธุรกิจ (Growth) นักลงทุนไม่ได้สนใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการจะดีแค่ไหน สิ่งที่เขาเหล่านั้นสนใจคือธุรกิจนั้น ๆ จะเติบโตอย่างรวดเร็วได้หรือไม่เท่านั้น เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า เวลาของคุณคือเงินของเขา ธุรกิจไหนที่เติบโตช้าหรือใช้เวลานานมักจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะนั่นหมายถึงจำนวนเงินลงทุนที่ต้องสูงตามระยะเวลายืดยาวขึ้น เครื่องมือที่นักลงทุนนิยมใช้ในการวัดว่าธุรกิจไหนน่าสนใจนั้นคือ The Internal Rate of Return หรือ IRR เครืองมือนี้ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเองเป็นอย่างยิ่งด้วย ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองธุรกิจที่กำลังทำในมุมมองของนักลงทุนได้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

THE ENTREPRENEURIAL READINESS TEST

คุณเหมาะที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือไม่? เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีความฝันที่จะเป็นเจ้าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่หลายคนคิด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการก่อตั้งบริษัทจะทำได้ง่ายและใครก็ทำได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรทำ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเพื่อเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นก่อนอื่นใดเราต้องสำรวจตัวเราเองก่อนว่าเรามีอุปนิสัยของผู้ประกอบการทั้ง 7 ประการนี้หรือไม่

  1. Optimistic: มองโลกในแง่ดี เส้นทางในการเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่เคยราบเรียบ หลายครั้งที่เรารู้สึกว่ากำลังพุ่งสูงเข้าไกล้ความสำเร็จ และหลายครั้งก็ดิ่งลึกไปสู่ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอนั้น ทำให้เราไม่จมปลักอยู่กับความล้มเหลวนานเกินไป ทำให้เรามีแรงลุกขึ้นสู้ใหม่ทุกครั้งที่ล้มเหลว และการที่เราสามารถผ่านความล้มเหลวไปได้นั้นเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
  2. Energetic: บ้าพลัง การจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความบ้าพลังพอสมควร เพราะมีแต่ต้องทุ่มเททุกอย่างเกินร้อยเปอร์เซนต์เท่านั้นจึงจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ ทุกๆ นาทีที่เราหยุดคิดหยุดพัฒนา คู่แข่งที่นำหน้าเราอยู่จะห่างออกไปอีกหนึ่งก้าวขณะเดียวกันคู่แข่งที่ตามหลังเรามาก็คลืบคลานเข้ามาไกล้อีกหนึงคืบ นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการมีความทุ่มเท ความจริงจังยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนในองค์กรมีความฮึกเหิม ทุ่มเทตามไปด้วย
  3. Risk-Taking: แบกรับความเสี่ยง ไม่มีธุรกิจใดที่ปราศจากความเสี่ยง ดังนั้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เพียงแค่รับความเสี่ยงได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจด้วย เพราะทุกการตัดสินใจล้วนหมายถึงอนาคตของบริษัท และคนในองค์กรทั้งหมด
  4. Emotionally Resilient: ควบคุมอารมณ์ได้ดี เส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความผิดพลาด ความผิดหวัง หรือความสูญเสียได้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ช่วยให้มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด เผชิญหน้ากับปัญหาอะไร ก็สามารถหาสาเหตุและวิธีแก้ไขได้
  5. Visionary: วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ผู้ที่จะประสบความสำเร็จต้องมองภาพรวมของสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างกระจ่างชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดทิศทาง และคาดเดาอนาคตได้ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ประสบความสำเร็จมักจะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ทำให้เขาเหล่านั้นมองเห็นโอกาศต่าง ๆ ได้ชัดเจนกว่าคนทั่วไป หากจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ผู้ประกอบการมองแผนที่ ในขณะที่คนทั่วไปนั้นมองเห็นเพียงถนนตรงหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ยังเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้ที่ประสบความสำเร็จกับคนที่โชคดีออกจากกันด้วย
  6. Persuasive: โน้มน้าวเก่ง เราคงเคยได้ยินมาบ้างว่า งานพาร์ทไทมของการเป็นผู้ประกอบการคือการเป็นนักขาย แท้ที่จริงแล้ว การขาย ไม่ใช่งานพาร์ทไทม แต่มันคือสิ่งที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในวงการสตาร์ทอัพ การเป็นผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยันพรีเซนต์ แนะนำ พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำอยู่และที่สำคัญที่สุดคือ ขายบริษัท ขายไอเดีย สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่น อริสโตเติ้ลได้กล่าวถึงทฤษฏีการโน้มน้าวไว้ว่า การโน้นน้าวให้ผู้อื่นเห็นด้วยนั้นประกอบด้วยเสาหลักสามต้นคือ Ethos, Pathos และ Logos, Ethos คือการโน้มน้าวโดยการใช้ความน่าเชื่อถือของผู้พูดเป็นหลัก การให้พนักงานต้อนรับของโรงแรมมาพูดเรื่องการพัฒนาซอร์ฟแวร์ ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือน้อยกว่าการให้นักพัฒนาซอร์ฟแวร์พูดในเรื่องเดียวกัน เป็นต้น, Pathos การเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟัง การตอบสนองอารมณ์ของผู้ฟัง เป็นการโน้มน้าวโดยเน้นการสื่อสารไปที่ความรู้สึกของผู้ฟังเป็นหลัก, Logos เป็นการสื่อสารโดยใช้หลักเหตุผล ตรรกะเป็นหลัก เน้นการสื่อสารไปที่ความคิด หรือสมองเป็นสำคัญ ดังนั้นไม่ว่าเรากำลังโน้มน้าวใคร นักลงทุน พนักงาน หรือลูกค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นสำรวจว่าเรามีองค์ประกอบทั้งสามนี้ครบถ้วนหรือไม่

หากคำตอบที่เราได้จากคำถามเหล่านี้เป็นไปในทิศทางบวก จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องละทิ้งงานที่ทำอยู่ ออกมาก่อตั้งบริษัทเพื่อที่จะเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว หากเป็นคำแนะนำดั้งเดิมทั่วไปก็คือ ลาออกซะ และหลายคนก็เลือกที่จะทำเช่นนั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องก่อตั้งบริษัทเพื่อที่จะเป็นผู้ประกอบการ พึงระลึกอยู่เสมอว่า "ผู้ประกอบการ" คือ แนวคิด (Mind Set)  ไม่ใช่ตำแหน่ง หน้าที่ เราสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดเหล่านี้กับที่เราทำงานอยู่ได้

การจะสร้างสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถึงแม้โอกาศจะน้อยนิดก็ตาม จากสถิติจะมีบริษัทเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดจนครบปี และมีเพียง 1% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

THREE  KEY QUESTIONS BEFORE YOU START ANYTHING

การจะทำเรื่องใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องเริ่มต้นด้วยคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะลงมือทำ และคำถามสำคัญเหล่านั้นคือ

  1. What does success look like for you? ความสำเร็จของคุณมีหน้าตาอย่างไร? คุณอยากจะให้ธุรกิจของคุณเติบโตไปถึงระดับมหาชนจำกัด ,คุณอยากสร้างธุรกิจเพื่อเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลาน หรือคุณอยากสร้างธุรกิจเพียงเพื่อที่จะมีรายได้ไว้เลี้ยงตัวให้สุขสบายไปวัน ๆ หลายคนเริ่มต้นทำธุรกิจทั้ง ๆ ที่ยังบอกไม่ได้ว่าความสำเร็จของสิ่งที่กำลังทำมีหน้าตาเป็นอย่างไร คนที่โชคดีก็อาจจะค้นพบว่าความสำเร็จที่ตนเองคาดหวังนั้นเป็นเช่นไรหลังจากผ่านไปหลายปี แต่ก็ไม่ทุกคนที่โชคดีเพราะส่วนใหญ่มักจะล่มสลายไปก่อนที่จะค้นพบว่าความสำเร็จที่คาดหวังมีหน้าตาเป็นเช่นไร ในทางกลับกันหากเรารู้ว่าความสำเร็จที่เราต้องการมีหน้าตาเป็นเช่นไรตั้งแต่ก่อนการลงมือทำนั้น ก็เปรียบเสมือนเรามีดาวเหนือคอยนำทาง มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน สามารถรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราถึงจุดที่ประสบความสำเร็จแล้ว อะไรคือตัวชี้วัดที่บอกเราว่าเราประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
  2. Why has no one else done this? ทำไม่เรื่องนี้ถึงไม่มีใครทำ? หลายคนมันจะคิดว่าสิ่งที่ตนคิดและกำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่ใหม่ และไม่มีใครทำมาก่อน แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เขาเหล่านั้นกำลังคิดและทำ มีหลายคนที่ทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครคือเจ้าของความคิด แต่คือใครทำมันออกมาได้ดีที่สุดต่างหาก การลงมือทำเป็นคนแรกทำให้ได้เปรียบกว่าผู้ที่ลงมีทำทีหลังก็จริง แต่การเป็นคนที่ทำออกมาดีที่สุดต่างหากที่สำคัญกว่า (Being first can be huge advantage, BUT being the best is more important)  ถ้าบังเอิญค้นพบว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์หรือเป็นที่ต้องการของมนุษณ์คนไหนบนโลกหรือเปล่า อาจจะเป็นไปได้ว่าเหตุที่ไม่มีใครทำเพราะไม่มีใครต้องการหรือเปล่า ถ้าสิ่งที่เรากำลังทำนั้น มีคนทำอยู่แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่เขาเหล่านั้นทำออกมาได้ดีและอะไรคือองค์ประกอบที่หายไปที่หากเราสร้างมันขึ้นมาแล้วจะทำให้เราได้เปรียบกว่าเขาเหล่านั้นที่เป็นคู่แข่งเรา เพื่อที่จะเอาชนะ เราจำเป็นต้องรู้จุดแข็งและจุดอ่อนทั้งหมดของคู่แข่งของเราให้ได้เสียก่อน มันไม่สมเหตุสมผลที่เสียทรัพยากรไปกับการสร้างสิ่งที่แย่กว่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สร้างออกมาจะต้อง ถูกกว่า เร็วกว่า และ ดีกว่า สิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาดถึงจะสามารถแข่งขันได้
  3. Why you, and why now? ทำไมถึงต้องเป็นคุณที่ทำเรื่องนี้ และทำไม่ต้องทำตอนนี้? อะไรทำให้คิดว่าคุณเหมาะที่จะทำเรื่องนี้ และทำไมต้องทำในเวลานี้  สิ่งที่กำลังจะทำนั้นมีตลาดรองรับหรือไม่ อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางความสำเร็จ ตลาดที่รองรับใหญ่พอหรือเปล่า การขยายขนาดของธุรกิจทำได้หรือไม่ อย่างไร ต้องใช้สายป่านยาวแค่ไหนกว่าจะประสบความสำเร็จ คำถามเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคำตอบก่อนการลงมือทำ

Next Chapter: PRELAUNCH

**บทความทั้งหมดอ้างอิงจากหนังสือเป็นหลัก แต่ก็บางส่วนที่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวของผู้อ่านเข้าไปด้วยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น**