ทำความรู้จักกับ Indicators ในตลาดหุ้น

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแนวไหน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้เหมือนกันคือการดูสัญญานทางเทคนิคต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนให้น้อยที่สุด ในปัจจุบันมีการพัฒนา Indicators ต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อช่วยเหล่านักลงทุนมีความมั่นในการตัดสินใจ สำหรับมือใหม่แบบผมแล้ว บางครั้งก็สับสนว่าเราควรใช้ Indicators ใดที่เหมาะกันสไตล์การลงทุนของเรา ดังนั้นจึงลองศึกษาและทำความเข้าใจ Indicator ต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบันเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ว่าในการลงทุนครั้งต่อไปจะติดดอยน้อยกว่าเดิม

Indicators แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ สี่กลุ่มย่อย สองกลุ่มใหญ่คือ

Leading Indicators ออกแบบเพื่อใช้สำหรับคาดการณ์ทิศทางราคาในอนาคต การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นค่อนข้างเร็ว แต่ความเสี่ยงในการผิดพลาดของสัญญานก็สูงตามด้วย ตัวอย่างของ Indicators ประเภทนี้ได้แก่ Pivot Point, Fibonacci, Volume, Trend line หรือ แนวรับแนวต้านต่างๆ เป็นต้น

Lagging Indicator ออกแบบมาสำหรับดูข้อมูลย้อนหลังเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยหลักการสำคัญคือการใช้ค่าเฉลี่ยของราคาย้อนหลังเป็นข้อมูลในการประมวลผล โดยหลัก ๆ แล้วใช้สำหรับยืนยันแนวโน้มและทิศทางของราคาที่ผ่านมา ดังนั้นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นค่อนข้างช้า แต่มีความแม่นยำสูง ข้อเสียของการใช้ Indicator ประเภทนี้เป็นตัวกำหนดการเข้าซื้อ-ขายคือ ทำให้ซื้อขายได้ช้ากว่าตลาด ตัวอย่างของ Indicator ประเภทนี้ได้แก่ EMA, MACD เป็นต้น

สี่กลุ่มย่อยคือ

  1. Trend Indicators ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับดูทิศทางหรือแนวโน้มของราคาหุ้น โดยประมวลผลจากข้อมูลราคาในอดีตที่ผ่านมา เช่น Moving Average, PSAR, ADX, MACD เป็นต้น
  2. Momentum Indicators หรือเรียกอีกอย่างว่า Oscillators ถูกออกแบบมาสำหรับใชัวัดความแข็งแรงของราคาหุ้น โดยการพล็อตค่าจาก 0-100 และแบ่งออกช่วงราคาออกเป็นสามส่วนคือ Oversold, Overbought และค่าปกติ โดย Indicator ประเภทนี้จะใช้ได้ดีในสภาวะตลาดผันผวน แต่จะมีความผิดพลาดในสภาวะตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน ตัวอย่างของ Indicator ประเภทเหล่านี้ได้แก่ RSI, Stochastic, Momentum เป็นต้น
  3. Volume Indicators ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับวัดความแข็งแรงของแนวโน้ม (Trend) โดยประมวลผลจากข้อมูลจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายกันในตลาด ตัวอย่างของ Indicator ประเภทนี้ได้แก่ OBV, Chaikin เป็นต้น
  4. Volatility Indicators ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับวัดอัตราการแกว่งตัวของราคาหุ้นตามแนวโน้ม ยกตัวอย่างเช่น Bollinger band, Average True Range (ATR) เป็นต้น

ไม่ว่าจะใช้ Indicators ใด ๆ ก็ตามต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน 100% ดังนั้นควรศึกษาหาความรู้อยู่สม่ำเสมอ ศึกษา Indicators หลาย ๆ ตัวไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อการลงทุนครั้งต่อไปจะได้มีกำไรให้ได้ชื่นจิตบ้าง