ขายหมู, Stop Loss, และ Timeframe

หนทางที่ราบเรียบนั้นไม่อาจขัดเกลานักเดินทางให้แข็งแกร่งได้ สำหรับการเดินทางแล้ว เป้าหมายเป็นตัวกำหนดทิศ แต่สิ่งที่ท้าทายคืออุปสรรคระหว่างทาง ทุกคนที่เข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า Investor หรือ Trader ล้วนแต่มีเป้าหมายอยู่ที่อิสรภาพทางการเงิน แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับเทรดเดอร์แล้ว stop loss นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นจุดตายของชีวิตเทรดเดอร์เลยก็ว่าได้ การเทรดโดยไม่มี stop losses นั้นไม่ต่างอะไรกับการปล่อยรถไหลลงเขาชันโดยไม่มีเบรค ส่วนใหญ่มักจะไม่รอด แต่ถึงรอดก็ร่อแร่

อย่างที่กล่าวไปในบทความเรื่อง "แพ้อย่างมืออาชีพ" ว่า stop loss นั้นไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นการเอาชนะตนเอง

วิธีจัดการ stop loss

  1. อย่าเข้าซื้อถ้ายังไม่มีจุด stop loss ที่ชัดเจน
  2. เคารพจุด stop loss อย่างเคร่งครัด, ถ้าถึงเวลาต้องลงมือ ห้ามสงสัย ห้ามตั้งคำถาม ห้ามคิด - เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่ก่อนเข้าเทรด - ไม่มีใครไปเถียงกันในสนามรบว่าจะรบยังไง ใช้แผนอะไร
  3. คิดเหมือนผู้ประกอบการ หรือเจ้าของบริษัท มองหุ้นทุกตัวเหมือนพนักงานที่จ้างมาทำงาน หากจ้างมาแล้วไม่ทำงาน ก็ต้องไล่ออก, ซื้อมาแล้วไม่ขึ้น ต้องขายออก
  4. ถ้าตัดใจ Stop loss ไม่ลง ให้ตัดขายทีละครึ่ง - ลองแล้วได้ผล ในด้านจิตวิทยามาก

วิธีจัดการการขายหมูและขายก่อนถึงจุด Stop Loss

การขายหมูนั้นมักจะเกิดบ่อยขึ้นหลังจากเทรดแพ้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่า Dollar Counting ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความกลัว และการขาดความมั่นใจ มันเป็นธรรมชาติที่เมื่อเทรดเสียติดต่อกัน เทรดเดอร์จะเริ่มโฟกัสไปที่ตัวเงินของกำไร/ขาดทุน แทนที่จะเป็น หลักการ, วิธีการ หรือระบบเทรด ทำให้เมื่อมีกำไร ก็กลัวที่จะต้องคืนกำไรให้ตลาด เมื่อขาดทุน ก็กลัวจะขาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการ ขายหมูและขายก่อนถึงจุด stop loss

วิธีแก้ปัญหา

  1. กำหนดจุดออกสองจุดสำคัญก่อนเข้าเทรด หนึ่งคือจุด stop loss สองคือ ราคาเป้าหมาย
  2. ขายเมื่อราคาแตะจุดใดจุดหนึ่งก่อน - หายใจลึก ๆ ตัดความโลภ ความกลัวออกให้หมด แตะคือออกโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
  3. ถ้าทนความอยากขายก่อนถึงจุดกำหนดไม่ใหว ให้ขายออกไปครึ่งหนึ่งก่อน

สลับ Time frames ซื้อขาย

Timeframe นั้นมีอยู่ 4 ช่วงเวลา คือ

  1. micro term อาจจะอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ วินาที - ชั่วโมง
  2. short term อาจจะอยู่ในช่วง วัน -  สัปดาห์
  3. intermediate term อาจจะอยู่ในช่วง สัปดาห์ -  เดือน
  4. long term อาจจะอยู่ในช่วงหลัก เดือน - ปี

ซึ่งระยะเวลาในแต่ละช่วงของแต่ละคนนั้นก็อาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของบุคคลนั้น ๆ Timeframe นั้นมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าหรือออกจากการเทรดเป็นอย่างมาก ทรงกราฟที่ดูสวยใน Timeframe หนึ่งนั้นอาจจะดูน่ากลัวในอีก Timeframe หนึ่งก็เป็นได้ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นกราฟหุ้นตัวเดียวกัน แต่พอเปลี่ยน Timeframe อารมณ์ก็เปลี่ยนตาม เชื่อว่าเทรดเดอร์หลายคนคงเคยผ่านเหตุการณ์ที่ ตัดสินใจซื้อหุ้นใน timeframe day แต่พอดู timeframe 60 minutes แล้วเกิดความกลัวจนขายหุ้นออกไป กล่าวอีกอย่างคือ ตอนตัดสินใจซื้อใช้ timeframe หนึ่งแต่ตอนตัดสินใจขายใช้อีก timeframe หนึ่ง การกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างมาก

เปลี่ยนแผนกลางศึกเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ชนะศึกแล้ว ยังอาจทำให้การศึกนั้นพัวพันจนถอนตัวไม่ขึ้น ลากถ่วงจนล้มทั้งกระดานได้ ลองนึกถึงเหตุการณ์นี้ เราเข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นโดยใช้ timeframe 5 นาทีในการกำหนดจุดเข้าซื้อ หลังจากเข้าซื้อแล้ว ราคากลับวิ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ พอแตะจุด stop loss แล้ว แต่เรายังรู้สึกเสียดายไม่อยาก cut เราเลยเปิด timeframe 15 นาทีดู เอ๊ะมันดูสวย แนวรับอยู่ต่ำลงไปอีก เราคิดว่าถ้าเราซื้อเพิ่มตรงนี้ ต้นทุนเฉลี่ยเราจะลดลง เราเลยซื้อเพิ่มแทนที่จะ stop loss ออก แล้วกำหนดจุด stop loss ใน timeframe 15 นาทีแทน ราคามันก็ยังลงหลังอีกเมื่อถึงจุด stop loss ของ timeframe 15 นาที เรารู้สึกว่ามันต้องเด้งแล้วแหละ ไหนดู timeframe 60 นาทีดูซิ โอ้วทรงกราฟสวยงาม เราจัดเพิ่มอีกจนหมดพอร์ทเลย แล้ววางจุด stop loss ใน timeframe 60 นาทีแทน - หลายคนคงคุ้นกัน story ประมาณนี้ สิ่งที่เราเห็นจาก story นี้คือ หนึ่ง การไม่เคารพจุด stop loss ที่ตั้งไว้ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนวินัยในการเทรด, สองคือไม่ยอมรับความผิดพลาด ไม่ยอมรับว่าตัวเองคาดผิดตั้งแต่ต้น การเปลี่ยน timeframe เป็นหนึ่งในวิธีแก้ตัวเท่านั้น มันเป็นการหลีกหนีความจริงหรือหลอกตัวเองเท่านั้น มันไม่สามารถทำให้ได้กำไรในการเทรด สิ่งเดียวที่มันทำคือซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ เท่านั้น และท้ายที่สุดมันจะเหลือเพียงความหวังที่ทำให้ยังคงถือหุ้นนั้นต่อไป หวังว่าวันหนึ่งมันจะกลับมาที่เดิม และอย่างที่เคยกล่าวไป ความหวังนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย และไร้ประโยชน์สำหรับเทรดเดอร์ที่สุด ทั้งสองอย่างนี้เป็นจุดตายของเทรดเดอร์เพราะหาแก้ไขไม่ได้ ก็ไม่สามารถอยู่ในตลาดได้นาน

หุ้นตัวหนึ่่งในพอร์ท

ดังนั้น การกำหนด Timeframe สำหรับ Take Action จึงสำคัญโดยเฉพาะเทรดเดอร์ที่ใช้หลาย timeframe ในการวิเคราะห์ แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสองอย่างนี้คือ

  1. ซื้อใน Timeframe ไหนก็ขายใน Timeframe นั้น
  2. จุด Stop loss กับ Take Profit นั้นต้องยึดติดกับ Timeframe สำหรับ stop loss เมื่อมีกำไร ถึงจะสามารถยกจุด stop loss ขึ้นได้ แต่ต้องไม่ลดให้มันต่ำลงไม่ว่ากรณีใด ๆ

การเคารพจุด Stop loss คือการเคารพตนเอง ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้นั้นนอกจากจะช่วยเสริมสร้างวินัยแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองด้วย แผนการต่าง ๆ นั้นจะไร้ซึ่งประโยชน์ถ้าหากตัวผู้วางแผนยังไม่ปฏิบัติการตามแผนการของตนเสียเอง