รู้ลึก หรือ รู้กว้างดี?

ในหนังสือ "คัมภีร์เล่มเล็กของคนคิดใหญ่" มีการกล่าวถึงนักปรัชญาชาวอังกฤษที่ใช้สัตว์สองชนิดในการเปรียบเทียบการเรียนรู้ สัตว์สองชนิดนั้นคือ สุนัขจิ้งจอก และเม่นแคระ สัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีกลยุทธ์ในการรับมือกับศัตรูที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือสุนัขจิ้งจอกนั้น ฉลาด, เจ้าเล่ห์ และวิ่งเร็ว ดังนั้นเวลาสุนัขจิ้งจอกเจอกับศัตรู มันจะวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว ถ้าศัตรูของมันวิ่งเร็วกว่ามัน มันจะใช้เลห์เหลี่ยมล่อหลอกศัตรูให้หลงทาง ตามหามันไม่เจอ ส่วนเม่นแคระนั้นไม่ค่อยฉลาดนัก ออกจะซื่อ ๆ และที่สำคัญคือวิ่งช้า ดังนั้นเมื่อศัตรูมา สิ่งที่มันทำได้เพียงอย่างเดียวคือม้วนตัวเป็นลูกบอลหนาม และอยู่อย่างนั้นจนกว่าศัตรูของมันจะยอมแพ้แล้วจากไป

สุนัขจิ้งจอกนั้นมีความสามารถที่หลากหลาย และความสามารถแต่ละอย่างก็ทำได้ค่อนข้างดี ส่วนเม่นแคระนั้นทำได้เพียงอย่างเดียว แต่อย่างเดียวที่มันทำได้นั้นไม่มีใครทำได้ดีกว่ามันแล้ว ในสมัยกรีกโบราณนั้นมีคำกล่าวเกี่ยวกับสัตว์ทั้งสองว่า "สุนัขจิ้งจอกรู้รอบ เม่นแคระรู้จริง"

นักปรัชญาคนนั้นคือ ไอเซยาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) เขากล่าวว่าความคิดของมนุษณ์เรานั้นมีอยู่สองแบบ หนึ่งคือแนวคิดแบบเม่นแคระ โดยแนวคิดนี้จะเป็นการมองโลกจากมุมมองใดมุมมองหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งคนที่มองโลกแบบนี้จะแปลงข่าวสาร ข้อมูล เหตุผลทุกอย่างที่ได้รับให้สอดคล้องกับมุมมองของตนเสมอ คนที่มีแนวคิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง สองคือแนวคิดแบบสุนัขจิ้งจอก คือคนที่มีความคิดและมุมมองเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับมุมมองใดมุมมองหนึ่ง มีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระ คนที่มีแนวคิดแบบนี้มักจะเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง แต่ไม่ลึกซึ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ซึ่งแนวคิดทั้งสองแบบนั้นไม่มีถูกหรือผิด แต่ไม่ควรยึดแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งตายตัว จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้แบบตัว T ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้แบบผสมผสาน แขนของอักษร T แทนขอบเขตการเรียนรู้ที่กว้างขวางและหลากหลาย ขณะเดียวกันขาของตัว T แสดงถึงการเรียนรู้ในเชิงลึกของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในชีวิตของคนหนึ่งคนนั้นสามารถที่จะมีการเรียนรู้แบบตัว T หลายตัวต่อกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เว้นเสียแต่คน ๆ นั้นจะหยุดเรียนรู้

ดังนั้นคำตอบของคำถามนี้คือการบาลานส์การเรียนรู้ทั้งสองแบบให้มีความสมดุล มากกว่าการยึดติดกับแนวใจแบบใดแบบหนึ่ง สำหรับเรื่องไหนที่เราควรเรียนรู้แบบเจาะลึกนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า เราเก่งด้านไหน สนใจอะไร แล้วศึกษาต่อยอดสิ่งเหล่านั้น ต่อยอดจากเก่ง ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ สำหรับเรื่องไหนที่เราไม่เก่ง ไม่ค่อยสนใจ เพียงเรียนพอรู้ไว้เป็นความรู้รอบตัวก็เป็นพอ เพราะต่อให้เราพยายามเรียนรู้ พัฒนาสิ่งที่เราไม่เก่ง อย่างมากที่สุดก็คือทำให้เราเก่งเรื่องนั้นขึ้นมาเท่านั้น ผลลัพท์ที่ได้ไม่อาจเทียบกับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ และในแง่ของเวลา มันอาจจะไม่คุ้มค่าสำหรับการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น คนที่เก่งในเรื่องนั้น อาจใช้เวลาสามปีในการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เชียวชาญ ขณะที่ผู้ที่ไม่เก่งในเรื่องนั้น อาจเสียเวลาหลายปีกว่าจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เก่ง และอีกหลายปีกว่าจะเป็นผู้เชียวชาญ แต่เวลาในชีวิตของคนเรานั้นมีจำกัด ดังนั้นการค้นหาว่าตนเก่งเรื่องใด แล้วพัฒนาให้กลายเป็นผู้เชียวชาญในเรื่องนั้น ๆ จึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า

ตอนหนึ่งในหนังสือของ Jim Collins ที่ชื่อว่า "Good to Great" เขากล่าวว่า

“The enemy of great is not bad, the enemy is good.”

คนส่วนใหญ่มักจะหยุดพัฒนาเมื่อรู้สึกว่าตนเองเก่งในเรื่องนั้น ๆ แล้ว และจะหันไปพัฒนาเรื่องอื่นที่ตนเองไม่เก่งต่อ ท้ายที่สุดคนเหล่านี้จะเป็นคนเก่ง แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าอยากโดดเด่นเหนือคนเก่งเหล่านั้นคือต้องเป็นผู้เชียวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น