[Series] The Lean Startup - Introduction

คำว่า Startup สำหรับใครหลายคนแล้ว ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันดี และเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยก็กำลังใช้บริการจากบริษัทเหล่านี้อยู่ ในแต่ละปี มี Startup เกิดขึ้นทั่วโลกจำนวนไม่น้อย แต่ที่ประสบความสำเร็จและมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้เราได้เห็น ได้ใช้จริง กลับมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนที่ก่อตั้งขึ้นมา อะไรคือปัจจัยหลัก ที่ช่วยให้เหล่า Startup เติบโตและอยู่รอดท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของเทคโนโลยี และการแข่งขันที่ดุเดือด หนังสือ The Lean Startup เผยให้เห็นถึงหลักการพื้นฐาน ขั้นตอนและกระบวนการในการพัฒนาและบริหารจัดการบริษัทในแบบ Startup ให้ประสบความสำเร็จ ถือเป็นหนังสือที่ผู้ที่สนใจในด้าน Startup จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านและทำความเข้าใจ ก่อนสิ่งอื่นใด

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก อยากจะขอทบทวนถึงนิยามของคำว่า Startup เพื่อให้ผู้อ่านจะได้เข้าใจอย่างชัดเจน ว่าบริษัทประเภทนี้คืออะไรกันแน่

Startup คือบริษัทที่ก่อตั้งขี้นมา เพื่อทำการคิดค้นและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ (Business Model) ภายใต้เงื่อนใขสองข้อ คือ

  1. รูปแบบธุรกิจนั้น ๆ ต้องสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ในหลากหลายประเทศ หลากหลายพื้นที่ตลอดไปจนถึงหลากหลายสังคม
  2. รูปแบบธุรกิจจะต้องสามารถที่จะขยายและเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ไม่ใช่แค่หลักสิบหรือหลักร้อยแต่เป็นหลักพันเปอร์เซนต์

เพื่อให้ใด้มาซึ่งรูปแบบธรุกิจที่เข้าเงื่อนใขสองข้อนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลอมรวมเข้ากับหลักการทางการตลาด ตลอดจนถึงหลักเศรษฐศาตร์ ในการคิดค้น ดังนั้นอย่าได้แปลกใจ ว่าทำไมผู้ที่ประสบความสำเร็จจึงมีเพียงน้อยนิด เพราะกว่าจะได้มาซึ่ง Business Model ที่เข้าเงื่อนใขก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว นี่ยังไม่นับรวมถึงคู่แข่งที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และการบริหารจัดการที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนอีกด้วย

สำหรับหนังสือเล่มนี้ เป็นการนำแนวคิดการบริหารการผลิตของบริษัทโตโยต้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lean Manufacturing ซึ่งคิดค้นโดย Taiichi Ohno มาประยุกต์เข้ากับการหลักการบริหาร เพื่อใช้สำหรับบริหารบริษัทในรูปแบบ Startup โดยเฉพาะ ซึ่งจากการศึกษาและจากประสบการณ์ของผู้เขียน สามารถกลั่นกลองออกมาเป็นหลักการพื้นฐานของ Startup 5 ข้อ ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่สำคัญสามเรื่อง ได้แก่ วิสัยทัศน์, ทิศทาง และความเร็ว ซึ่งหลักการทั้งห้าข้อคือ

  1. Entrepreneurs are everywhere. การก่อตั้ง Startup ทำได้ทุกหนทุกแห่ง ขอเพียงแค่วัตถุประสงค์หลักของบริษัท คือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า บริษัทยังไม่มีผลิตภัณฑ์ หรือ บริการที่แน่นอน ( Human institution designed to create new products and services under condition of extreme uncertainty ) นั่นหมายรวมไปถึง การที่บริษัทยังไม่มีลูกค้า หรือยังไม่รู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใครด้วย
  2. Entrepreneurship is management. Startup คือองค์กร มิใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น และเมื่อเป็นองค์กร ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงในการบริหารจัดการได้ แต่ Startup นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน การบริหารจัดการแบบวิธีดั้งเดิมจึงไม่อาจใช้ได้ผล ดังนั้นการบริหารจัดการบริษัทประเภทนี้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษเพื่อให้เข้ากับบริบทพื้นฐานของบริษัท แต่ถึงอย่างไร มันก็ยังเป็นการจัดการประเภทหนึ่ง
  3. Validate Learning. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Startup ไม่ใช่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ หรือบริการ แต่เป็นการเรียนรู้ ที่จะสร้างธุรกิจที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เมื่อเป็นการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย นั่นก็คือการ ตั้งสมมติฐาน และทำการทดลอง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ
  4. Build-Measure-Learn กิจกรรมหลักของ Startup คือการเปลี่ยนไอเดีย แนวคิดให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ จากนั้นทำการวัดผลจากการตอบสนองของกลุ่มลูกค้า และนำผลที่ได้มากำหนดทิศทางในการพัฒนาต่อไป นี่ถือเป็นวงจรหลักที่สำคัญที่สุดของ Startup
  5. Innovation accounting ในฐานะผู้ประกอบการ ย่อมต้องการที่จะเห็นผลประกอบการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จึงมีการวัดและประเมินงานต่าง ๆ สำหรับ Startup แล้วสิ่งเหล่านี้กลับทำให้เสียเวลาเปล่า ๆ เพราะไม่อาจวัดผลที่แท้จริงได้ Startup จำเป็นต้องใช้วิธีการเฉพาะในกระบวนการเหล่านี้

หนังสือเล่มนี้ เป็นการเรียบเรียงจากประสบการณ์ในการก่อตั้งบริษัทที่เป็น Startup ของผู้เขียน ที่กว่าจะประสบความสำเร็จ ก็ผ่านความล้มเหลวมาไม่น้อย ประสบการณ์ที่สั่งสมมา กลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือให้อ่านให้ศึกษา เพื่อที่ว่าคนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องเดินซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นกับผู้เขียนมาก่อน เนื่องด้วยเนื้อหาที่มีประโยชน์ คงไม่อาจสรุปมาได้ทั้งหมดในหนึ่งโพส จึงของสรุปออกมาตามประเด็นที่ผู้เขียนได้แบ่งเอาไว้ คือ Vision, Steer, Accelerate ตามลำดับ