[Series] The Myths Of INNOVATION Part I
ตำนานของนวัตกรรม
เมื่อพูดถึงคำว่า "นวัตกรรม" หลายคนคงรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ สิ่งที่คนธรรมดาไม่อาจสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พลิกโลก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของคำนี้กลับเรียบง่าย และนวัตกรรมก็เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราอยู่เสมอโดยที่เราไม่รู้ตัว นวัตกรรมหมายถึงอะไรก็ตามที่ยังไม่มีคนทำ คนใช้ หรือคิดขึ้นมาก่อน และมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีเท่านั้น นวัตกรรม สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวงการ ทุกแขนง ด้วยความกว้างของความหมาย ทำให้ทุกวันนี้คำว่านวัตกรรมถูกใช้อย่างแพร่หลาย แพร่หลายจนไม่อาจแยกแยะได้ว่าสิ่งที่กำลังพูดถึงถือเป็นนวัตกรรมหรือไม่
เช้าวันหนึ่งขณะที่เบอเคนหอบเสื้อผ้าไปซักที่ร้านซักรีด เขาสดุดตามกับความว่า "Innovative dry-cleaning service" ทำให้เขาสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าอะไรคือ นวัตกรรมในการซักแห้งที่ป้ายร้านนี้หมายถึง เขาพยายามหาคำตอบโดยการถามลูกสาวเจ้าของร้านซักรีดว่าอะไรคือนวัตกรรมของร้านซักรีดนี้ คำตอบที่ได้ก็คือ "มันเป็นแค่คำโฆษณา เฉยๆ " ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่หรือแตกต่างจากที่อื่น ๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เบอเคนคิดจะชำแหละคำว่า นวัตกรรม ที่เหล่านวัตกร อ้างว่าคิดค้นขึ้นมาในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ที่คนเหล่านี้อ้างความเป็นเจ้าของ
The myth of epiphany
เรื่องเล่าขานตำนานเกี่ยวกับการค้นพบไอเดียใหม่ ๆ ของเหล่านักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ คงไม่มีเรื่องไหนที่จะโด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่ากับเรื่องการค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกของ ไอแซก นิวตัน เรื่องเล่ามีอยู่ว่า หลังจากการเหนื่อยล้าจากการคิดค้นทดลองมาตลอดวัน ไอแซก นิวตัน จึงไปนั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล และทันใดนั้นลูกแอปเปิ้ลก็หล่นใส่หัวของนิวตัน ทำให้เขาค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เล่าเพื่อความสนุกสนานมากกว่าจะเป็นจริง ยังไม่มีใครรู้ว่านิวตันเคยสังเกตุลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นที่แน่ชัดคือไม่มีแอปเปิ้ลหล่นใส่หัวนิวตันแน่นอน มนุษณ์รู้จักแรงโน้มถ่วงของโลกมาเป็นเวลานานไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยปีก่อนนิวตันจะเกิด แต่สิ่งที่นิวตันทำคือการใช้ คณิตศาสตร์ในการอธิบายหลักการทำงานของแรงโน้มถ่วงของโลก ได้ดีกว่าที่ใคร ๆ เคยอธิบายหรือพิสูจน์ให้เห็นมาก่อน แน่นอนว่างานของนิวตันสำคัญ แต่มันก็ยังไม่ใช่การค้นพบอะไรใหม่
"Epiphany" เป็นศัพท์ทางศาสนาซึ่งหมายถึงสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ ความคิด ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหัวของมนุษณ์เราล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ แต่ในปัจจุบันคำนี้ใช้อธิบายถึงความคิดที่เกิดขึ้นในหัวของคนเราอย่างฉับพลันทันใด
ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า นวัตกรผู้สร้างสรรค์จะต้องมีห้วงเวลาที่ความคิดเหล่านี้อยู่ ๆ ก็วาปเข้ามาในหัวหรืออยู่ ๆ ไอคิวก็พุ่งปรี๊ดขึ้นไปจนคิดค้นนวัตกรรมเหล่านี้ออกมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันสวนทางกับสิ่งที่คิดแต่ถึงแม้จะว่าเหล่านวัตกรจะปฏิเสธว่าไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครเชื่ออยู่ดี เพราะคนอยากฟังเรื่องมหัศจรรย์มากกว่าเรื่องจริง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง Ebey ที่พยายามดึงความสนใจของนักข่าวให้ไปทำข่าวแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ พวกเขาจึงแต่งนิยายว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาสร้างขึ้นจากความรักที่ผู้ก่อตั้งมีต่อคู่หมั้นสาว เขาสร้างตลาดที่ยิ่งใหญ่เพียงเพื่อให้คู่หมั้นสาวขายแท่งบรรจุลูกอมเพซเท่านั้น มันอาจฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่ออย่างสนิทใจ ถึงแม้ว่าจะได้รับการยอมรับในภายหลังว่ามันเป็นเรื่องแต่งจากผู้บริหาร แต่คนก็ยังอยากฟังเรื่องแต่งนี้มากกว่าทฤษฏีตลาดเสรีที่เป็นต้นกำเนิดของ Ebey อยู่ดี
เรื่องราวของนิวตันก็เช่นกัน วอลแตร์ และนักเขียนคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในศตวรรษที่ 18 ได้ยอมรับว่าเรื่องราวมีการสร้างสรรค์แต่งเติมให้มีความมหัศจรรย์เพิ่มขึ้น จากที่นิวตันสังเกตุเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นไกล ๆ ก็กลายเป็นลูกแอปเปิ้ลหล่นแทบเท้านิวตัน และพัฒนามาเป็นหล่นใส่หัวในเวลาต่อมา จริงอยู่ที่ว่าการแต่งเติมเรื่องราวให้มีความมหัสจรรย์ช่วยให้แนวคิดของนิวตันขยายวงกว้างไปได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนส่วนใหญ่กลับจดจำตำนานการค้นพบแรงโน้มถ่วงของนิวตันได้ขึ้นใจ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าแรง G ที่มีค่าเท่ากับ 9.8 นั้นได้มายังไง เอาไปใช้ทำอะไร จะเห็นได้ว่า ตำนานมีประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์มากกว่าการศึกษา
ไอเดียไม่สามารถเกิดขึ้นมาอย่างโดด ๆ
สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษณ์เราคิดค้นขึ้น ล้วนมีรากฐานมาจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Keyboard ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ หลายอย่างที่มีอยู่แล้วมาประกอบกัน จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการพัฒนาแผงวงจร หรือไม่มีเทคโนโลยีการผลิตพลาสติก หรือไม่มีการคิดค้นหลักการพิมพ์อักษร หากปราศจากองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเหล่านี้ Keyboard ย่อมไม่เกิดขึ้น
วิธีที่จะอธิบายคำว่า "Epiphany" หรือการเกิดขึ้นของการปิ๊งไอเดีย ให้นึกถึงการต่อจิ๊กซอร์ หากถามว่าจิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้ายที่เราวางลงแตกต่างจากจิ๊กซอร์อื่นๆ หรือไม่อย่างไร หากเรารื้อแล้วต่อใหม่จิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้ายยังคงเป็นชิ้นเดิมหรือไม่ หากปราศจากชิ้นก่อนหน้า หรือชิ้นใดชิ้นหนึ่งหายไป ต่อให้วางจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายลงภาพก็ไม่สมบูรณ์อยู่ดี สิ่งเดียวที่ทำให้จิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้ายสำคัญก็เพราะชิ้นอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และเมื่อวางชิ้นสุดท้ายลง ภาพก็จะสมบูรณ์แบบ นวัตกรรมก็เช่นกัน มันเป็นลงล๊อคของจิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้ายที่จะช่วยให้นวัตกรรมนั้นสมบูรณ์และแน่นอนว่าการสรรค์สร้างไอเดียมันย่อมไม่ง่ายเหมือนอย่างกับการต่อจิ๊กซอร์ สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการสรรค์สร้างนวัตกรรมไม่ใช่วิธีการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หากแต่เป็นปัญหาที่เราต้องการแก้ไขต่างหาก นวัตกรรมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นในวันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งหรือจิ๊กซอตัวหนึ่งของนวัตกรรมใหม่ในอนาคตที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างอื่น ก็เป็นได้
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เรื่องราวของนิวตันก็คือ ตำนานของ อคีมิดิส เรื่องราวมีอยู่ว่า กษัตริย์องค์หนึ่งได้ของให้เขาพิสูจน์เครื่องบรรณาการชิ้นหนึ่งว่ามันเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอม วันหนึ่งขณะที่อคิมิดิสก้าวเท้าลงไปในอ่างอาบน้ำเขาก็สังเกตุถึงปริมาณน้ำที่ล้นออกมาจากอ่าง ทำให้เขาคิดได้ว่า ถ้าเขารู้ปริมาตรและน้ำหนักของวัตถุ เขาก็สามารถคำนวณความหนาแน่นของวัตถุออกมาได้ เมื่อแก้โจทย์ได้ด้วยความดีใจเขาจึงวิ่งโทงๆ ไปกลางถนนแล้วตะโกนว่า Eureka!! ข้าหาวิธีได้แล้ววววว นี่คือสิ่งที่ตำนานกล่าวถึง แต่สิ่งที่ตำนานไม่ได้บอกไว้ก็คือ อคิมิดิสใช้เวลาเท่าไหร่ในการเฟ้นหาวิธีการพิสูจน์ว่าอันไหนเป็นทองแท้อันไหนเป็นทองปลอม ตำนานไม่เคยบอกว่าเขาล้มเหลวไปแล้วกี่ครั้งก่อนที่เขาจะตัดสินใจไปอาบน้ำผ่อนคลาย ตำนานบอกเราถึงเรื่องราวในขณะที่จิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายถูกวางลงไปแต่ไม่ได้เอ่ยถึงความเป็นไปของจิ๊กซอร์ตัวอื่น ๆ ก่อนหน้านี้เลย
จะเห็นได้ว่าไอเดียที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้มาจากปาฏิหารย์หรือพระเจ้าประทานมาให้ หากแต่เกิดจากการตกผลึกจากการศึกษาค้นคว้าต่างหาก ดังที่ เทด ฮอฟฟ์ ผู้คิดค้นไมโครโปรเซสเซอร์ตัวแรกของบริษัท Intel กล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณมัวแต่เฝ้ารอให้ความมหัศจรรย์มันโผล่ขึ้นมาเอง มันอาจจะไม่มีวันเกิดขึ้น. ดังนั้นแทนที่คุณจะนั่งรอไปเฉย ๆ มีงานอะไรก็ทำไปเรื่อยๆ เจออะไรที่น่าสนใจ ดูเข้าท่าก็ต้องลองศึกษาทดลองดู" การศึกษาทดลองอาจไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จเพียงข้ามคืนแต่ย่อมดีกว่านั่งเฉยๆ เป็นที่แน่นอน
... To be continue