ระเบียบแห่งการระบาด : ความตื่นตระหนกและการระบาดใหญ่

หากเราพูดถึง เซอร์ ไอแซก นิวตัน นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะผู้ที่ประสบความสำเร็จ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าในด้านการลงทุนแล้ว เขาถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความล้มเหลวคนหนึ่ง เขาสูญเสียเงินไปกับการลงทุนในบริษัท เซาร์ซี (South Sea Company) ไปกว่าสองหมื่นปอนด์ซึ่งเทียบเท่ากันยี่สิบล้านปอนด์ในปัจจุบัน

นักวิชาการผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายงานหลายคน มีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างไปจากนิวตันมากนัก เมื่อเข้าสู่ตลาดการเงินการลงทุน มีเพียงส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จ ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ไม่เว้นแม้แต่กองทุนที่มีกรรมการบริหารกองทุนเป็นถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองคนอย่าง แอลทีซีเอ็ม (Long Term Capital Management) ที่ล้มลงในปี 1998

การระบาดของโรคติดต่อกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่นั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจน โดยโรเบิร์ต เมย์ นักวิชาการด้านการวิเคราะห์โรคติดต่อ ที่ต่อมากลายมาเป็นนักวิจัยทางการเงิน ชี้ให้เห็นว่า "สินทรัพย์ทางการเงินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประสบภาวะล้มละลายหลังจากนั้น มีรูปแบบที่เหมือนกันอย่างพอดิบพอดีกับการระบาดของโรคหัด หรือการติดเชื้ออื่น ๆ "

เกี่ยวกับการระบาดของโรคติดต่อนั้น เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นข่าวร้าย และเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงนั้นถือเป็นข่าวดี ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องการเงินที่เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้นถือว่าเป็นข่าวดี และเป็นข่าวร้ายเมื่อราคาสินทรัพย์นั้นลดลง เมย์กล่าวว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นใช่ว่าจะเป็นข่าวดีเสมอไป เขากล่าวว่า "เมื่อราคาสินทรัพย์บางอย่างพุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีคำอธิบายนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาของมนุษย์" ซึ่งหนึ่งในภาวะฟองสบู่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ วิกฤตดอกทิวลิป (Tulip Mania) ที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ในปี 1630 เมื่อราคาดอกทิวลิปพุ่งสูงขึ้นจนมีราคาเทียบเท่ากับบ้านหลังหนึ่ง และตกต่ำลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไม่นาน

ภาวะฟองสบู่นั้นเป็นภาพมายาอันสวยงานที่หลอกล่อนักลงทุนให้กระโดดลงไป ราคาสินทรัพย์ในภาวะฟองสบู่นั้นสามารถขึ้นสูงจนเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างไม่มีเหตุผล หลายคนตัดสินใจลงทุนเพียงคาดหวังว่าจะมีคนอื่นเข้ามาดันราคาให้สูงขึ้นในภายหลัง ซึ่งนำไปสู่ทฤษฏีที่เป็นที่รู้จักกันในภายหลังในชื่อ "ทฤษฏีคนโง่กว่า" หรือ Greater Fool Theory นั่นคือ คนเราเชื่อว่าการซื้ออะไรที่แพงกว่าความเป็นจริงเป็นเรื่องที่โง่เขลา แต่เขาเหล่านั้นมีความเชื่อว่าจะมีคนที่โง่กว่า ที่จะมาซื้อสิ่งนั้นในราคาที่สูงขึ้นไปอีกที

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของทฤษฏีนี้คือธรุกิจพีระมิด ซึ่งแผนผังอาจจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ล้วนยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการชักชวนคนอื่น ๆ เข้าร่วมลงทุน ซึ่งไม่ซับซ้อนเกินทำนาย ว่าจะล้มละลายเมื่อใด ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน ดังนั้นภาวะฟองสบู่ทางเศรษฐกิจจึงยากในการทำนาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาวะฟองสบู่นั้นมีลักษณะเด่นอยู่ประการหนึ่งคือ การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ Super Exponential ไม่เพียงการซื้อขายเท่านั้นที่ทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วยังเป็นตัวดันให้ราคาสูงขึ้นไปอีก

สำหรับการระบาดของโรค เราสามารถทำนายจุดสูงสุดของการระบาดได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่กับภาวะฟองสบู่นั้นยากกว่า เพราะนักลงทุนสามารถหยิบยืมหรือหาทรัพย์สินมาเพิ่มการลงทุนได้เรื่อย ๆ ทำให้ความแม่นยำในการทำนายนั้นน้อยลงมากเมื่อเทียบกับโรคระบาด

BitCoin คือหนึ่งในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราอยู่ในช่วงไหนของสภาวะฟองสบู่ แต่เรารู้ว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งหนึ่งที่จะบอกเราได้ว่าถึงการมาถึงของช่วงสุดท้ายของภาวะฟองสบู่ก็คือ ความตื่นตระหนกและความกลัวที่จะกระจายไปทั่วเหมือนเช่นกับความกระเหี้ยนกระหือกระตือรือร้นของนักลงทุน ที่เกิดขึ้นในตอนแรกเริ่ม

ในปี 2008 หลังจากการล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เลห์แมนบราเธอร์ (Lehman Brother) ทำให้เหล่านายธนาคารเริ่มตระหนักถึงวิกฤติเศรษฐกิจในรูปแบบของการระบาดเช่นเดียวกับโรคติดต่อ โดยแอนดี ฮอลเดน ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถใช้ทฤษฏีระบาดวิทยามาใขข้อสงสัยถึงสาเหตุของการล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ได้

ธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการเงินที่ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันหมด ซึ่งแน่นอนว่าการล้มลงของเลห์แมนฯ ย่อมส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและลุกลามไปทั้งเครือข่าย ซึ่งอาจทำให้ธนาคารอื่นล้มลงตามในลักษณะโดมิโน เมื่อธนาคารหนึ่งให้ธนาคารอีกแห่งกู้เงิน หากผู้กู้ล้มละลาย นั่นเท่ากับผู้ให้กู้ต้องสูญเสียเงินเหล่านั้นไปด้วย การไล่เรียงลำดับการกู้เงินระหว่างธนาคารนั้นไม่แตกต่างไปจากการไล่เรียงคู่นอนของผู้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเอดส์ การไล่เรียงนั้นไม่เพียงเฉพาะคนที่ผู้ติดเชื้อหลับนอนด้วยเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่ผู้ที่หลับนอนกับผู้ติดเชื้อไปหลับนอนด้วยทั้งหมด เป็นทอด ๆ เพื่อตัดตอนการระบาด และแน่นอนกว่าการกู้เงิน ไม่ใช่ธุรกรรมเดียวที่เกิดขึ้นในระบบธนาคาร

ก่อนปี 2008 ธนาคารส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อเสถียรภาพของตน ธนาคารหลายแห่งลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดชนวนในการระบาดที่ต่อเนื่องกัน หากมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นและธนาคารเริ่มเทขายสินทรัพย์นั้น ๆ ของตน ธนาคารอื่นที่ลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียวกันย่อมได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ยิ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ ผลกระทบยิ่งแผ่ขยายวงกว้าง ยิ่งลงทุนหลากหลาย ยิ่งสามารถทำลายเสถียรภาพของเครือข่ายได้กว้างขวางยิ่งขึ้น