ระเบียบแห่งการระบาด : มาตรวัดแห่งมิตรภาพ

ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการระบาดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิด ความรู้ ความเชื่อ และเชื้อโรค การแพร่ระบาดออกไปของสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ความรวดเร็วของการระบาดนั้นขึ้นอยู่กับความถี่ในการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม  ดังนั้นหากต้องการทำความเข้าใจการระบาด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจลักษณะของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่นการทำความเข้าใจการระบาดของเชื้อ HIV นั้นจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมทางเพศของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมก่อน เช่น ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ จำนวนคู่นอน เป็นต้น

ทฤษฎีแห่งอุบัติการณ์

เมื่อโรนัล รอสส์ และลินดา ฮัดสัน นำเสนอทฤษฎีนี้ พวกเขาบอกว่า มันสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุ การหย่าร้างและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ โดยอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะ โดยแต่ละเหตุการณ์ไม่มีองค์ประกอบของการระบาดไปสู่คนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจำกัดอยู่เพียงเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น

การระบาดทางสังคม

เริ่มมีคำถามจากเหล่านักวิจัยในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ในปี 2007 นายแพทย์นิโคลัส คริสตากิส และเจมส์ ฟาวเลอร์ นักวิทยาศาสตร์สังคม ได้เริ่มทำการศึกษา "การระบาดทางสังคม" โดยใช้ข้อมูลด้านสาธารณสุขของเมืองฟรามิงแฮม รัฐแมตซาชูเซตส์ในการศึกษาวิเคราะห์ โดยทั้งคู่ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทความว่าด้วยการระบาดของโรคอ้วน โดยมีใจความสำคัญว่า โรคอ้วนนั้นสามารถระบาดในกลุ่มเพื่อน และมีความเป็นไปได้ที่จะระบาดไปสู่เพื่อนของเพื่อนต่อกันเป็นทอด ๆ ได้ บทความว่าด้วยเรื่องการระบาดของโรคอ้วนนั้นถูกอ้างอิงอย่างแพร่หลาย และก็ถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักวิจัยที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ต่อมาทั้งคู่ได้ขยายขอบเขตการศึกษาไปยังการระบาดทางสังคมอย่างอื่น เช่นการสูบบุหรี่ ความสุข การหย่าร้างและความเหงา เป็นต้น

หนึ่งในตัวอย่างการระบาดทางสังคมที่พบเห็นบ่อยคือการหาว ผลจากการศึกษาพบว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะหาวตามคนที่เรามีความสัมพันธ์อย่างไกล้ชิดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน อัตราการหาวตามนั้นมีมากกว่า 50% แต่กับคนแปลกหน้านั้นอัตราการหาวตามจะลดลงต่ำกว่า 10%

หากเราสังเกตุอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าสังคมที่เราอยู่ตลอดจนถึงผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้นมีหลายอย่างที่เหมือนกับเรา ไม่ว่าจะเป็นรสนิยม สุขภาพ วิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนถึงฐานะทางการเงิน ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้สามรูปแบบคือ หนึ่ง การระบาดทางสังคม หมายถึงพฤติกรรมหรือการแสดงออกของเรานั้นล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากผู้คนที่อยู่รอบตัวเราทั้งสิ้น สองคือเราเลือกที่จะอยู่ในสังคมหรือคบหาผู้คนที่มีบางอย่างเหมือนกับเรา หรือที่เรียกว่า "หลักแห่งความคล้ายคลึง (Homophily)" สามคือ พฤติกรรมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดทางสังคม แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่เป็นตัวกำหนดต่างหาก นักสังคมวิทยาที่ชื่อว่า แมกซ์ เวเบอร์ ยกตัวอย่างฝูงชนที่เริ่มกางร่มเมื่อฝนเริ่มตกว่า ผู้คนนั้นไม่ได้ตอบสนองต่อการกางร่มของคนรอบข้าง แต่ตอบสนองต่อก้อนเมฆบนท้องฟ้าต่างหาก

ปัญหาภาพสะท้อน (The reflection problem)

เป็นเรื่องยากที่เราจะบอกว่าคำอธิบายไหนที่ถูกต้อง นักสังคมวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า "ปัญหาภาพสะท้อน (The reflection problem)" กล่าวคือคำอธิบายหนึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงคำอธิบายอื่น ๆ คุณชอบฟุตบอลเพราะเพื่อนๆ คุณชอบฟุตบอล หรือคุณเป็นเพื่อนกันเพราะชอบฟุตบอลเหมือนกัน เป็นต้น มิตรภาพกับพฤติกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน แต่เรากลับบอกไม่ได้ว่านั้นเป็นผลจากการระบาดทางสังคมหรือไม่

การศึกษาทางระบาดวิทยานั้นใช้การวิเคราะห์โดยการสังเกตุเป็นหลัก นักวิจัยไม่สามารถทำให้เกิดการระบาด หรือทำให้ผู้คนติดเชื้อเพื่อศึกษากลไกการทำงานของเชื้อโรค โดยหลักมนุษย์ธรรมแล้ว นักวิจัยไม่สามารถทำการทดลองใด ๆ ที่เป็นอันตรายกับมนุษย์โดยตรง การศึกษาจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลรายงานการติดเชื้อจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ทำให้หลายคนมองว่า การศึกษาทางระบาดวิทยานั้นไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเหมือนการรายงานข่าวมากกว่า เพราะเราทำได้เพียงนั่งนับจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่ความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่อยู่ที่ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาต่างหาก ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด เป็นที่ชัดเจนว่ามะเร็งปอดนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสูบบุหรี่ โอกาศที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งปอดของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นสูงถึงเก้าเท่าของผู้ที่ไม่สูบ แต่ปัญหาสำคัญคือจะพิสูจน์อย่างไรว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง แน่นอนว่าการทดลองเท่านั้นที่จะสามารถให้คำตอบนี้ได้ แต่การทดลองนั้นไม่อาจจะเกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางด้านจริยธรรม

หนึ่งทศวรรตหลังการตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์จากข้อมูลฟรามิงแฮมของคริสตากิสและฟาวเลอร์ หลักฐานเกี่ยวกับการระบาดทางสังคมได้ถูกนำเสนอจากนักวิจัยกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และหลักฐานต่าง ๆ นั้นชี้ให้เห็นว่า การระบาดทางสังคมนั้นมีอยู่จริง ถึงแม้ว่ามันจะยากในการพิสูจน์ก็ตาม แต่มันก็ช่วยให้เราเข้าใจมันมากขึ้น เรารู้แล้วว่าพฤติกรรมของผู้คนนั้นสามารถระบาดได้ แต่สิ่งที่ยากคือเราไม่สามารถทำนายได้ถึงความรวดเร็ว รุนแรง และขนาดของการระบาดได้เลย

ความสัมพันธ์แบบหลวม (Weak ties)

นักวิจัยค้นพบความแตกต่างระหว่างการระบาดทางชีววิทยากับการระบาดทางสังคม โดยพบว่าข่าวลือนั้นแพร่กระจายในกลุ่มคนแปลกหน้าได้ดีกว่าในกลุ่มเพื่อนสนิท หากเราบอกข่าวลือเฉพาะกับเพื่อนสนิทเท่านั้น และเพื่อนสนิทของเราก็จะทำเช่นเดียวกับเรา การแพร่กระจายของข่าวลือนั้นจะเชื่อช้าและแต่ละคนอาจจะได้ยินข่าวลือมากกว่าหนึ่งครั้งเพราะการทับซ้อนกันของกลุ่มเพื่อนสนิท

การระบาดแบบครอบงำ (Context Contagions)

ในทางชีววิทยานั้น การติดเชื้อมักกระจายตัวผ่านการพบปะเดี่ยว กล่าวคือถ้าคุณติดเชื้อ เชื้อโรคนั้นต้องมาจากใครซักคนที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่การระบาดทางสังคมนั้นแตกต่างกันออกไป พฤติกรรมหลายอย่างของเรานั้นเกิดขึ้นจากการทำตามคนอื่น การแพร่ระบาดของพฤติกรรมนั้นจึงไม่มีเส้นทางที่แน่ชัด และจำเป็นต้องใช้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งในการแพร่เชื้อ สาเหตุของการเกิดการระบาดนั้นแบ่งออกเป็นสามข้อคือ หนึ่งกระแสสังคม ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมหรือยอมรับตามคนในส่วนใหญ่ของสังคม สองคือความเชื่อถือ ข่าวลือที่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวหลายแห่งจะทำให้ผู้คนเชื่อว่ามันเป็นความจริง สามคือปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อความรู้นั้น เช่นเรารู้ว่าสัญญาณไฟ้ไหม้ดังเราต้องรีบหนี และเราจะหนีทันทีถ้าอยู่คนเดียว แต่ถ้าเราอยู่เป็นกลุ่มแล้วคนรอบข้างไม่หนี เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือนเช่นกัน ปฏิกิริยานั้นยังรวมไปถึงการมีอารมณ์ร่วมไปกับคนหมู่มากเช่นงานคอนเสิร์ต เป็นต้น

การทดลองที่เป็นธรรมชาติ

การระบาดทางสังคมนั้นได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่กลับเหมือนไม่ได้ค้นพบอะไรมากนัก อันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถทำการทดลองใด ๆ เหตุผลอีกประการคือการที่นักวิจัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษณ์เพื่อทำการศึกษาได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเพียงการสังเกตุเท่านั้น การทดลองที่เป็นธรรมชาติคือการปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนเป็นไปตามธรรมชาติรอบตัว ยกตัวอย่างเช่นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อพฤติกรรมการวิ่งของนักวิ่ง เป็นต้น ธรรมชาตินั้นส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต สามารถบ่งบอกพฤติกรรมทางกายภาพได้ แต่มันไม่สามารถบ่งบอกพฤติกรรมที่สำคัญกว่าอย่างเช่น ความเชื่อและการตัดสินใจ เป็นต้น

การใช้เหตุผลแบบเบย์ส (Bayesian Reasoning)

โทมัส เบย์ส (Thomas Bayes) นักสถิติในศัตวรรษที่สิบแปดบอกว่า ความหนักแน่นของความเชื่อนั้นขึ้นอยู่กับระดับความมั่นใจเป็นตัวกำหนด การเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ผู้คนมีความมั่นใจนั้นจำเป็นต้องมีหลักฐานที่แน่นหนามาประกอบ แต่กับความเชื่อที่ผู้คนไม่มีความมั่นใจนั้น ใช้หลักฐานเพียงเล็กน้อยก็สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นได้ ดังนั้นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อคือ การชั่งน้ำหนักระหว่างความหนักแน่นในความเชื่อ กับความหนักแน่นของหลักฐาน

ปรากฏการณ์สะท้อนกลับ (Backfire Effect)

ในกระบวนการโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้น หากข้อมูลหลักฐานที่นำเสนอมีความขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม การโน้มน้าวนั้นเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับสภาวะสะท้อนกลับ กล่าวคือแทนที่หลักฐานต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตน แต่กลับกลายเป็นว่านอกจากผู้คนจะไม่เชื่อในหลักฐานแล้ว การโน้มน้าวยังผลักดันให้เขาเหล่านั้นเชื่อมั่นในความเชื่อเดิมมากขึ้นไปอีก ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคาดหวังโดยสิ้นเชิง

ความเอนเอียงในการคัดค้าน (Disconfirmation Bias)

ปรากฏการณ์สะท้อนกลับนั้นคือการปฏิเสธข้อโต้แย้ง ยึดมั่นในความเชื่อของตนอย่างเหนียวแน่น แต่ความเอนอียงในการคัดค้านนั้นคือการที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองข้ามข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนักมากพอ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองหรือความเชื่อหากข้อโต้แย้งนั้นมีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอรองรับ การโน้มน้าวจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราวางโครงสร้างและวิธีการในการนำเสนอข้อโต้แย้งอย่างไร ถ้าหลักฐานของข้อโต้แย้งนั้นสอดคล้องกับความเชื่อของเรา เรามีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยโดยปราศจากข้อสงสัยในความสมบูรณ์ถูกต้องของหลักฐาน แต่ถ้าหลักฐานของข้อโต้แย้งที่สวนทางกับความเชื่อของเรา ขอเพียงมีจุดอ่อนเพียงนิดเดียว เรามีแนวโน้มที่จะเลิกสนใจข้อโต้แย้งนั้นไปเลย

การเปลี่ยนมุมนองในการนำเสนอข้อโต้แย้งนั้นมีส่วนช่วยให้การโน้มน้าวประสบผลสำเร็จ ข้อโต้แย้งส่วนใหญ่นั้นมักจะนำเสนอในมุมมองของผู้ที่ทำการโน้มน้าวมากกว่ามุมมองของเป้าหมายที่ต้องการโน้มน้าว การโต้แย้งถกเถียงกันโดยใช้หลักการของตนเป็นพื้นฐานนั้นเป็นกุลยุทธ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป และมันไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากเราปรุงแต่ข้อโต้แย้งให้อยู่ในแนวทางเดียวกันกับความเชื่อหรือหลักการพื้นฐานของผู้ที่เราทำการโน้มน้าว ผลลัพท์ที่ได้นั้นจะแตกต่างกันอย่างยิ่ง

การเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นไม่สามารถทำได้โดยการโต้แย้งเพียงครั้งเดียว ถึงแม้ทำได้แต่ผลลัพท์นั้นไม่คงอยู่ถาวร การเน้นย้ำบ่อย ๆ นั้นจะช่วยให้ผลลัพท์คงอยู่ตลอดไป


บทที่ 4 อะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้น