Trade your way to FINANCIAL FREEDOM 1 - 4

คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ แต่คุณเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีต่อตลาดได้ ความเชื่อที่คุณมีต่อตลาดจะเป็นตัวกรองการรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในตลาดของคุณ


บทที่ 1 จอกศักดิ์สิทธิ์ไม่มีอยู่จริง

ไม่มีระบบเทรดใด ที่จะทำเงินจากตลาดได้อย่างยั่งยืน ความลับส่วนหนึ่งของผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จในตลาดคือ เข้าใจศักยภาพของตนเอง และเล่นไปตามเกมของตลาด

บันไดขั้นแรกของความสำเร็จ คือการควบคุมจิตใจ ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จส่วนมากจะมีความสามารถและผ่านการฝึกฝนในเรื่องของการควบคุม ความกลัว และ ความโลภ ของตนเอง

ปัจจัยหลัก 3 ประการ ที่ทำให้การเทรดประสบความสำเร็จ

  1. จิตวิทยา - 60%
  2. Money Management - 30%
  3. ระบบเทรด - 10%

ค้นหาตัวเองก่อน ก่อนที่จะค้นหาระบบเทรด ค้นหาตัวเองให้เจอก่อน จึงจะสามารถค้นหาระบบเทรดที่เหมาะสมได้ ไม่มีเทรดเดอร์จะประสบความสำเร็จในการเทรดจากการเลียนแบบผู้ที่ประสบความสำเร็จ


บทที่ 2 อคติ

เรามองตลาดผ่านมุมมองทางความเชื่อที่เรามี ข้อมูลทุกอย่างที่เรามี ล้วนผ่านการกลั่นกรองจากความเชื่อของเรามาก่อนแล้วทั้งสิ้น ความเชื่อนำไปสู่อคติและการบิดเบือนข้อมูลหรือแม้กระทั่งมองข้ามข้อมูลส่วนสำคัญไป

อคติที่มีผลต่อการพัฒนาระบบเทรด

  • Representativeness Bias อคติอันเกิดจากการสร้างตัวแทนทางความเชื่อขึ้นมา เช่น เชื่อว่ากราฟรายวันนั้นบอกจุดซื้อขายแม่นที่สุด หรือแนวรับแนวต้านนั้นมีอยู่จริง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นแค่การเอากรอบเวลาไปครอบชุดข้อมูล หรือตัวเลขที่ "ดูเหมือน" จะเป็นจริงเท่านั้น
  • Reliability Bias อคติอันเกิดจากความเชื่อว่าข้อมูลที่มีนั้นน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตนเองมีนั้นเป็นหนึ่งในฝันร้ายของนักลงทุน ดังนั้น เมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกมั่นใจมาก พึงระวังให้มากที่สุด
  • Lotto Bias อคติอันเกิดจากความเชื่อว่าตนสามารถควบคุมตลาดได้ ความเชื่อนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกทรงอำนาจ ก่อให้เกิดความมั่นใจ แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีใครสามารถควบคุมตลาดได้ สิ่งที่เราต้องควบคุมคือ จิตใจตนเอง และจุดขายหลังเข้าซื้อแล้วเท่านั้น
  • Law of small number อคติอันเกิดจากความเชื่อในกรณีศึกษาเพียงไม่กี่กรณี ความเป็นกลางในสายตาผู้คนนั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อสายตาเราจ้องมองดูกราฟ แต่ใจเราไม่ได้ให้น้ำหนักทุกอย่างเท่ากัน เราจะมองหาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจบนนั้นเท่านั้น ความเอนเอียงของใจ ทำให้เรามองข้ามสิ่งที่ตลาดอาจจะกำลังบอกเรา
  • Conservatism Bias อคติอันเกิดจากการที่มีธงอยู่ในใจแล้ว ทำให้เราไม่สามารถจดจำหรือมองไม่เห็นข้อมูลหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่ต่างออกไป คนส่วนมากเลือกที่จะไม่สนใจข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง ถึงแม้ว่าข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ นั้นจะหนาแน่น เห็นได้ชัด เพียงใดก็ตาม
  • Randomness Bias อคติอันเกิดจากความเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีแบบแผนที่ตายตัว ถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากการสุ่ม เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบเทรดที่มีแบบแผนที่ชัดเจน เราควรทุ่มเวลาไปกับการพัฒนาระบบทำนายผลการสุ่มจะดีกว่า
  • Need-To-Understand Bias อคติอันเกิดจากการพยายามหา ทฤษฎี หรือ เหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาด หรือพฤติกรรมของตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น หนังสือพิมพ์ที่ตีข่าวสาเหตุของหุ้นตก 100 จุดเมื่อวันก่อนหน้านั้นอย่างเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่ความจริงอาจจะแทบไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็เป็นได้ แต่เราก็เลือกที่จะเชื่อว่ามันเป็นเพราะสาเหตุนั้นจริง ๆ

อคติที่มีผลต่อการทดสอบระบบ

  • Degree of Freedom Bias อคติอันเกิดจากความอิสระในการปรับเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ มากเกินความจำเป็น (ตัวแปร ในทีนี้หมายถึง Indicator ต่าง ๆ) ยิ่งเพิ่มตัวแปรไปเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เทรดเดอร์รู้สึกว่าระบบมีความแม่นยำขึ้น แต่มันมีผลกับข้อมูลย้อนหลังเท่านั้น ไม่สามารถทำเงินได้ในอนาคต
  • Postdictive Bias อคติอันเกิดจากความเชื่อในผลลัพธ์จากการทดสอบระบบที่ผิดพลาด
  • Not-Giving-Yourself-Enough-Protection Bias เมื่อเทรดเดอร์เชื่อมั่นในระบบของตน จึงไม่สนใจที่จะคิดแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินที่ร้ายแรงต่อตลาด

อคติที่มีผลต่อการเทรด

  • Gambler's Fallacy อคติอันเกิดจากความเชื่อแบบนักพนัน เช่นเราเห็นว่าราคาหุ้นขึ้นมา 3 วันแล้วและคาดว่าวันที่ 4 ราคาต้องลงแน่นอน เป็นต้น จากการวิจัยพบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเดิมพันมากขึ้นหลังจากแพ้ติดต่อกัน และลดเดิมพันลงหลักจากชนะติดต่อกัน อคตินี้มีผลต่อการกำหนดขนาดของการเทรด และวิธีการเทรด
  • Conservative with profits and risky with losses อคติอันเกิดจากการต้องการรักษากำไรที่เกิดขึ้นและต้องการเอาคืนตลาดเมื่อขาดทุน กฎข้อพื้นฐานของการเป็นเทรดเดอร์คือ ต้องตัดขาดทุนให้สั้นที่สุด และปล่อยให้กำไรงอกเงยยืดยาวที่สุด แต่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่มักจะทำตรงกันข้ามเสมอ เทรดเดอร์มักจะมองโลกในแง่ร้ายเมื่อมีกำไร กลัวสูญเสียกำไร จึงเลือกที่จะขายรักษากำไรก่อน ทั้งที่ระบบยังไม่ส่งสัญญาณขายก็ตาม และมักจะมองโลกในแง่ดีเมื่อขาดทุน ว่าเดียวราคาก็กลับมา ทั้งที่ระบบส่งสัญญาณให้ขายชัดเจน
  • My current trade or investment must be a winner bias อคติอันเกิดจากการที่อยากเป็นฝ่ายถูกเสมอ ถึงแม้บางครั้งการตัดสินใจนั้นผิดพลาด แต่กลับไม่ยอมรับความผิดพลาดนั้น อคตินี้ส่งผลต่อการเทรดอยู่สองอย่างคือ ไม่ยอมขายขาดทุน กับ รีบขายทำกำไร

บทที่ 3 เป้าหมายของระบบเทรด

เป้าหมายนั้นเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกของการพัฒนาระบบเทรด และเทรดเดอร์แต่ละคนนั้นมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจำเป็นต้องค้นหาเป้าหมายของตัวเองให้เจอ ถึงจะสามารถพัฒนาระบบเทรดที่เหมาะสมกับตัวเรา และสามารถนำพาเราให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้


บทที่ 4 ขั้นตอนในการพัฒนาระบบเทรด

หากคนหลายคนทำสิ่งเดียวกันได้ดี แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นทักษะ ทักษะเป็นสิ่งที่มีแบบแผน สามารถลอกเลียนแบบ, ถ่ายทอด, ฝึกฝน และพัฒนาได้ การเทรดก็เหมือนกัน เทรดเดอร์จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในการเทรด ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ผู้เขียนหนังสือจึงนำสิ่งที่ตกผลึกจากการสัมภาษณ์คนเหล่านี้มาสร้างเป็น โมเดล สำหรับพัฒนาระบบเทรดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการเทรดให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีทั้งหมด 14 ประการ

  1. TAKE AN INVENTORY: สำรวจตัวเอง - การที่จะพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับจริตของเรา จำเป็นต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก สิ่งที่เราจำเป็นต้องสำรวจนั้นประกอบไปด้วย ทักษะ ความรู้ อารมณ์ เวลา และทรัพยากร หรือเงินทุนที่มี
  2. DEVELOP AN OPEN MIND AND GATHER MARKET INFORMATION: หัดเปิดใจ และเริ่มรวบรวมข้อมูลตลาด - ความจริงที่เรารับรู้อยู่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อของเรา เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเชื่อของเราเปลี่ยน ความจริงที่เรารับรู้อยู่ก็จะเปลี่ยนตาม (นี่ก็เป็นเพียงความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง) เราต้องรู้จักพิจารณาว่าความเชื่อไหนที่มีประโยชน์ และเปิดใจยอมรับมัน ส่วนวิธีการสำรวจตลาดที่ดีที่สุดคือการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่าง ๆ เมื่อสำรวจตลาดแล้ว เราต้องค้นหาความเชื่อของเราที่มีต่อตลาดออกมาให้ได้ เพื่อที่จะพัฒนาระบบเทรดให้เข้ากับความเชื่อที่เรามีต่อตลาด
  3. DETERMINE YOUR MISSION AND YOUR OBJECTIVES: กำหนดภารกิจและวัตถุประสงค์ของแต่ละภารกิจ ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายหลักที่เราต้องการจากตลาดคืออะไร เราจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่ละภารกิจที่เราทำนั้น วัตถุประสงค์ของมันคืออะไร  
  4. DETERMINE THE CONCEPT THAT YOU WANT TO TRADE: กำหนดหลักการที่ต้องการใช้ในการเทรด มันมีหลักการในการเทรดไม่กี่อย่างเท่านั้นที่จะทำเงินได้จากตลาดจริง ๆ อย่างเช่น Trend Following, Band Trading, Value Trading เป็นต้น
  5. DETERMINE THE BIG PICTURE: ระบุภาพรวมของตลาด ระบบเทรดที่ใช้งานจำเป็นต้องสัมพันธ์กันกับตลาด เพราะแต่ละตลาดนั้นมีวัฏจักรในการขึ้นลงที่ต่างกัน และเทรดเดอร์ส่วนใหญ่มักจะแห่กันเข้าไปยังตลาดที่มีความร้อนแรง ณ ขณะนั้นเสมอ (ตลาดในทีนี้หมายถึง หุ้น, Options, Futures เป็นต้น) ดังนั้นเราอาจจะต้องพัฒนาระบบเทรดหลายระบบแยกตามตลาด เพื่อรับมือได้อย่างทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลงของภาพรวม (Note: ภาพรวม ในทีนี้หมายถึงเทรดเดอร์ส่วนใหญ่)
  6. DETERMINE YOUR TIME FRAME FOR TRADING: กำหนดกรอบเวลาของการเทรด การเข้าถือสัญญา หรือซื้อหุ้นทุกครั้ง เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราจะต้องถือมันนานแค่ไหน ระยะสั้น เช่น จบในวัน หรือระยะยาว ถือไปหลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี ดังนั้นระบบเทรดที่จะพัฒนาจำเป็นต้องสัมพันธ์กับกรอบเวลาที่เราต้องการด้วย ถึงจะใช้งานได้
  7. DETERMINE THE ESSENCE OF YOUR TRADING AND HOW YOU CAN OBJECTIVELY MEASURE IT: สิ่งที่สำคัญสำหรับการเทรดคือสัญญาณซื้อ/ขาย เราต้องกำหนดสัญญาณที่จะใช้ในการตัดสินใจเข้าเทรด แล้วหาวิธีวัดผลมันให้ได้ ต้องค้นหาว่าสัญญาณที่เราจะใช้นั้นเหมาะสมกับ Time Frame ไหน อัตราความแม่นยำอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับการสุ่มเข้า (อัตราความแม่นยำของการสุ่มนั้นอยู่ 45% -55%) ก็แสดงว่าสัญญาณนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไร
  8. DETERMINE WHAT YOUR INITIAL 1R RISK WILL BE: กำหนดขนาดของความเสี่ยง ขนาดของความเสี่ยงหรือ R นั้นจะเป็นตัวกำหนดจุด Stop loss และจุดทำกำไรของทุกการเทรด
  9. ADD YOUR PROFIT-TAKING EXITS AND DETERMINE THE R-MULTIPLE DISTRIBUTION OF YOUR SYSTEM AND ITS EXPECTANCY กำหนดค่าความคาดหวังที่มีต่อทุกการเทรด เช่น การเทรดแต่ละครั้งต้องมีโอกาสได้กำไรไม่น้อยกว่าสามเท่าของความเสี่ยง หรือ 3R ซึ่งค่าความคาดหวังนั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุน ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาว ค่าความคาดหวังก็อาจสูง เช่น 20R แต่ถ้าเป็นการเล่นสั้น ๆ ค่าความคาดหวังอาจจะมีขนาดที่เล็กลงมา อาจจะเป็น 3R - 5R เป็นต้น เราจะนำค่าความคาดหวังไปเทียบกับความเสี่ยงทุกครั้งก่อนการเข้าเทรด ว่ามันมีอัตราส่วนเท่าใด (reward-to-risk) เช่น 5:1, 3:2 เป็นต้น
  10. DETERMINE THE ACCURACY OF YOUR R-MULTIPLE DISTRIBUTION: การกระจายของค่าความเสี่ยงหรือ R คือการวัดผลการเทรดเทียบกับขนาดของ R เช่น จำนวนของเงินที่เสียในการเทรดแพ้แต่ละครั้ง อยู่ที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับขนาดของ R มากกว่าหรือน้อยกว่า 1R กำไรจากการเทรดก็เช่นเดียวกัน ขนาดของกำไรแต่ละครั้งอยู่ที่กี่เท่าของ R ผลลัพธ์ที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของตลาด เช่น ถ้าตลาดอยู่ในช่วง up trend ค่า R อาจสูง 10-20R แต่ถ้าทดสอบในช่วงตลาด side way ค่า R เฉลี่ยอาจจะอยู่ที่ 3-5R เป็นต้น
  11. EVALUATE YOUR OVERALL SYSTEM: ผลลัพธ์ที่ใช้ในการประเมินผลระบบเทรดคืออัตราชนะในการเทรด (win rate) แต่อัตราชนะ ก็ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าระบบจะให้ความแม่นยำถึง 90% แต่ผลลัพธ์จากการเทรดทั้งหมดอาจจะขาดทุนก็ได้ (ขนาดของการเทรดคือกุญแจสำคัญในเรื่องนี้)
  12. USE POSITION SIZING TO MEET YOUR OBJECTIVES: กำหนดขนาดของการเทรด ไม่ว่าระบบเทรดจะแม่นยำแค่ไหน ถ้าหากไม่มีการกำหนดขนาดของการเทรดของแต่ละครั้ง ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะขาดทุน ขนาดของการเทรดเป็นวิธีในการควบคุมความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปแล้วการกำหนดขนาดของการเทรดนั้นมักจะต้องสัมพันธ์กับจำนวนเงินทุน
  13. DETERMINE HOW YOU CAN IMPROVE YOUR SYSTEM: การพัฒนาระบบเทรดนั้นเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามผู้เล่นในตลาดอยู่ตลอดเวลา หนึ่งในวิธีการทดสอบเพื่อปรับปรุงระบบเทรดให้ดีขึ้น คือการลองเอาระบบที่พัฒนามา ไปทดลองใช้ในหลาย ๆ ตลาด ถ้าหากมันใช้ได้ดีในตลาดส่วนใหญ่ นั่นจะเป็นการสะท้อนถึงคุณภาพของระบบทีดี
  14. MENTALLY PLAN FOR YOUR WORST-CASE SCENARIO: เตรียมใจให้พร้อมรับกับสถานการณที่เลวร้าย ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนการไว้รองรับ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างหนักหน่วง ระบบเทรดที่พัฒนา ต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที
Stock and Crypto Market Values
Photo by Maxim Hopman / Unsplash