แท่งเทียน: ราคาและจิตวิทยามวลชน

ในตลาดมีคนอยู่สามกลุ่ม คนที่ต้องการซื้อ คนที่ต้องการขาย และคนที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อขาย คนซื้ออยากซื้อถูก คนขายอยากขายแพง ความขัดแย้งนี้นำไปสู่ Bid กับ Offer บนหน้ากระดานเทรด Bid คือราคาที่ผู้ซื้อเสนอซื้อ Offer คือราคาที่ผู้ขายเสนอขาย

โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดนั้นจะถูกกดดันโดยกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อขาย เพราะคนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนใจเข้าซื้อขายเมื่อไหร่ก็ได้ คนซื้อถ้าเกี่ยงราคามากไปก็อาจจะถูกคนเหล่านี้ซื้อตัดหน้า คนขายต่อรองมากไปก็มีโอกาสถูกคนเหล่านี้ขายตัดราคาได้

คนซื้อ ซื้อเพราะคาดหวังว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้น ดังนั้นเขาเหล่านั้นจึงรีบซื้อหุ้นให้ได้ก่อนคนอื่น โดยยอมซื้อแพงกว่าราคาเสนอซื้อปัจจุบัน

คนขาย ขายเพราะคาดว่าราคาหุ้นจะตกลง ดังนั้นจึงรีบขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาเสนอขายปัจจุบัน เพราะกลัวว่าราคาจะลงมากกว่านั้น

หน้าที่ของเราในฐานะเทรดเดอร์ คือ ต้องค้นหาจุดกลับตัว (จุดที่แรงซื้อ/ขายหมด) แล้ววางเดิมพันกับฝ่ายที่แข็งแรงกว่าที่กำลังจะเข้าควบคุมตลาด

Candlestick หรือแท่งเทียน คือสิ่งที่สามารถบอกเราได้ถึงพฤติกรรมราคาและจิตวิทยาของผู้คน ณ ขณะนั้น หนึ่งแท่งเทียนเปรียบเสมือนหนึ่งยกการต่อสู้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ถ้าเกิดแท่งเขียวแสดงว่าฝ่ายซื้อแข็งแรงกว่าและแรงซื้อสามารถเอาชนะแรงขาย ในทางตรงกันข้ามถ้าแท่งเทียนเป็นสีแดง แสดงว่าฝ่ายขายแข็งแรงกว่าและแรงขายเอาชนะแรงซื้อ (นึกภาพกีฬาชักกะเย่อ)

ขนาดของแท่งเทียนนั้นสำคัญไฉน

แท่งเทียนนั้นไม่เพียงแต่จะบ่งบอกว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ชนะเท่านั้น มันยังบ่งบอกถึงพละกำลังของทั้งสองฝ่ายได้อีกด้วย

แท่งเขียวใหญ่ บ่งบอกถึงแรงซื้อที่เอาชนะแรงขาย ด้วยพลังที่มาก โดยพลังนั้นแสดงออกในรูปแบบความยาวของแท่งเทียน ในขณะเดียวกัน แท่งแดงยาวนั้นมีความหมายตรงกันข้าม คือ ฝ่ายขายเอาชนะฝ่ายซื้อ โดยมีความยาวของแท่งเทียนเป็นตัวแสดงถึงพลังในการเอาชนะ

สิ่งที่เราต้องทำคือรอให้แท่งเทียนเริ่มไซด์เวย์ออกข้าง พร้อมกับแท่งเทียนที่หดสั้นลง นั่นถึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการหาจังหวะเข้าเทรด

เมื่อเราเข้าใจความหมายที่แสดงออกในรูปแบบแท่งเทียน เราก็สามารถเข้าใจอารมณ์และความคิดเห็นของคนในตลาด ณ ขณะนั้น ๆ ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า "Price Action"

การเข้าใจว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายควบคุมตลาด ณ เวลานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหร้บการเทรด มันเป็นเรื่องของจิตวิยามวลชน ผสานกับคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับเทรด

หน้าที่ของเราในฐานะเทรดเดอร์คือการเฝ้ามองว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะแล้วเข้าร่วมกับฝ่ายนั้น  หากทั้งคู่ต่อสู้กันสูสีกัน เราควรยืนดูอยู่เฉย ๆ จะเป็นการดีที่สุด ไม่มีเทรดเดอร์คนไหนที่อยากร่วมทางกับผู้แพ้ เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียต้นทุนที่มีค่าเป็นที่แน่นอน ดังนั้น การอ่านแท่งเทียนจึงเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยากจะประสบความสำเร็จในการเทรด

Indecision candlesticks

Dojis: Simple, Shooting Star, Hammer

โดจินั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของแท่งเทียน ซึ่งมีลักษณะที่แยกย่อยออกไปได้อีก โดยทั่วไปแล้วมันเป็นแท่งเทียนที่บ่งบอกผลการต่อสู้ของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดว่าเสมอหรือสูสีกัน ไม่มีผู้แพ้หรือผู้ชนะ หรือเรียกอีกอย่างว่า Indecision candles ถึงแม้ว่าผลลัพท์จะออกมาสูสีกัน แต่การต่อสู้นั้นยังคงดำเนินต่อไป โดยทั่วไปแล้วโวลุ่มของโดจินั้นมักจะน้อยกว่าปกติ เพราะเทรดเดอร์ส่วนใหญ่นั้นรอดูว่าผลลัพท์การต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย

ลักษณะของโดจิปกตินั้นจะมีใส้เทียนด้านบนและด้านล่างเท่ากัน ถ้าใส้เทียนด้านบนยาวกว่า หมายถึง ฝ่ายซื้อพยายามดันราคาขึ้นแต่ล้มเหลว หรืออีกนัยหนึ่งคือฝ่ายซื้ออ่อนกำลังลงและฝ่ายขายอาจเข้าคุมตลาด โดยโดจิประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า Shooting star

ถ้าใส้เทียนด้านล่างยาวกว่า หรือเรียกอีกอย่างว่า Hammer นั้นหมายถึงฝ่ายขายพยายามที่จะกดราคาให้ต่ำลงแต่ล้มเหลว หรืออีกนัยหนึ่งคือฝ่ายขายอ่อนแรง และฝ่ายซื้ออาจจะเข้าควบคุมตลาด

โดจินั้นแสดงให้เห็นถึงผลลัพท์การต่อสู้ที่สูสีกัน ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหุ้นที่มีแนวโน้มหรือเทรนที่ชัดเจน นั่นอาจเป็นไปได้ที่จะหมายถึงจุดกลับตัวของเทรน ถ้าเกิดในเทรนขาขึ้นหมายถึงแรงซื้อกำลังอ่อนตัวลง หรือแรงขายที่เพิ่มขึ้น และฝ่ายขายมีโอกาสเข้าคุมตลาด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกินขึ้นในเทรนขาลง หมายถึงแรงขายลดลงหรือแรงซื้อหนาแน่นขึ้น และฝ่ายซื้ออาจจะเข้าคุมตลาด

จำไว้เสมอว่าแท่งเทียนนั้นเป็นการบ่งชี้ถึงอารมณ์ของผู้คนในตลาด ณ เวลาหนึ่งเท่านั้น และการเกิดโดจิก็ไม่ได้หมายความว่าทิศทางราคาจะเปลี่ยนแปลงเสมอไป ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องจับตาดูแท่งเทียนถัดไป ซึ่งจะเป็นแท่งเทียนที่มายืนยันการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคา นอกจากนี้เรายังต้องใช้อย่างอื่นมาประกอบการตัดสินใจ เช่นแนวรับ, แนวต้าน และ volume เป็นต้น

Candlestick Patterns

รูปแบบแท่งเทียนนั้นมีอยู่มากมาย ตามแต่ผู้คนจะจินตนาการและตั้งชื่อให้มัน โดยส่วนใหญ่แล้วดูสับสน ซับซ้อนและมักไม่ค่อยมีประโยชน์ในความเห็นผู้เขียน ปัญหาใหญ่ที่สุดของแพทเทิร์นเหล่านั้นคือมันเป็นเพียงความปราถนาทางความคิด ซึ่งผูกโยงกับอารมณ์ ณ ขณะนั้น เมื่อเราอยู่ในอารมณ์อยากซื้อ เราจะมองเห็นแต่ Bullish Patterns และเมื่อเรากำลังกลัวและอยากขาย เราจะมองเห็นแต่ Bearish Patterns ซึ่งไม่ได้แตกต่างอะไรกับการมองก้อนเมฆหรือดวงดาวในยามค่ำคืนแล้วจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับแพทเทิร์นส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยสองแพทเทิร์นที่มีประโยชน์ นั่นคือ Higher Highs และ Higher Lows สำหรับตลาดกระทิง Lower Lows และ Lower Highs ในตลาดหมี

Higher Highs and Higher Lows

การที่จุดสูงสุดของแท่งเทียนแท่งที่สอง สูงกว่าแท่งแรกและจุดต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งที่สองสูงกว่าจุดต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งแรกนั้นหมายความว่า ฝ่ายซื้อมีความกระตือรือร้นในการเข้าซื้อเป็นอย่างมาก ทำให้ราคาดันสูงขึ้น ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายขายนั้นอ่อนแรง จนไม่สามารถกดราคาให้ต่ำลงกว่าเดิมได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะกระทิง [ผู้เขียนใช้ใน Time Frame 5 นาที และ Tame Frame Day]

Lower Lows and Lower Highs

ในทางตรงกันข้าม การที่จุดสูงสุดของแท่งเทียนแท่งที่สอง ต่ำกว่าแท่งแรกและจุดต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งที่สอง ต่ำกว่าจุดต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งแรกนั้นมีความหมายในทางตรงกันข้ามกับแบบแรก

เทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์เมื่อเห็นแพทเทิร์น HH HL ที่เกิดขึ้นระหว่างแท่ง A กับ B จะทำการเข้าซื้อหลังปิดแท่ง B ทันที เพื่อให้ได้จุดเข้าที่ได้เปรียบและความเสี่ยงต่ำ เทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์อาจจะขายหมดที่จุด G เมื่อเกิดแท่งเทียนแบบโดจิ แต่ผู้เชี่ยวชาญจะเหลือไว้บางส่วน จนกระทั่งเกิดแพทเทิร์น LL LH

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กลยุทธในการเทรดที่ผู้เขียนแนะนำ มันเป็นเพียงแพทเทิร์นที่เราจำเป็นต้องจดจำไว้เท่านั้น กลยุทธในการเทรดให้ชนะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้องค์ประกอบอีกหลายอย่างมาประกอบกันไม่ว่าจะเป็น Indicators ต่าง ๆ, Volume ซื้อขายเป็นต้น

Engulfing Patterns

Bullish Engulfing Patterns นั้นประกอบด้วยแท่งเทียนสองแท่ง โดยแท่งที่สองจะเปิดต่ำกว่าราคาปิดของแท่งแรกและปิดสูงกว่าราคาเปิดของแท่งแรก แท่งเทียนแท่งแรกจะมีขนาดลำตัวที่เล็กในขณะเดียวกันแท่งเทียนที่สองจะมีขนาดลำตัวที่ยาวคลอบคลุมแท่งเทียนแท่งแรก

การแปลความหมายของ Bullish Engulfing Patterns นั้นแยกออกเป็นสองส่วนคือ แท่งเทียนแท่งแรก ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด ฝ่ายขายกดราคาลงได้สำเร็จและเหมือนจะเป็นผู้ควบคุมตลาด แต่ทันใดนั้นกลับมีแรงซื้อเข้ามาในแท่งเทียนที่สองจำนวนมาก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนทิศทางราคาเท่านั้น แรงซื้อยังผลักดันราคาให้สูงกว่าแท่งก่อนหน้าอีก ชัยชนะของฝ่ายซื้อเกิดขึ้นฉับพลันอย่างไม่คาดฝัน

Bearish Engulfing Pattern จะมีรูปแบบที่ตรงกันข้าม ฝ่ายขายผลักดันราคาขึ้นไปในแท่งเทียนแท่งแรกจนราคาปิดในแดนบวก และราคาเปิดของแท่งเทียนที่สองสูงกว่าราคาปิดแท่งเทียนแรก แต่ทันใดนั้นกลับมีแรงขายทุ่มออก กดราคาลงไปปิดต่ำแท่งเทียนแท่งแรก อย่างฉับพลัน

ผู้เขียนพบว่าแพทเทิร์นนี้เป็นตัวบ่งบอกจุดกลับตัวของราคาที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำการเทรดทุกครั้งที่เจอ ต้องพิจารณาข้อมูลอื่นประกอบด้วย

การเทรดตามพฤติกรรมราคา

การบริหารการเทรดนั้นเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ เช่นเดียวกับการวางแผนการเทรด การบริหารการเทรด คือสิ่งที่เราต้องทำหลังจากเข้าเทรด จนกระทั่งออกจากการเทรด ยกตัวอย่างเช่น เทรดเดอร์สองคนเข้าเทรดในหุ้นตัวเดียวกันด้วยกลยุทธเดียวกัน คนหนึ่งขายออกไปทันทีที่เกิดการดึงกลับของราคาหรือ pullback เพื่อทำกำไรเพียงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันเทรดเดอร์อีกคนเลือกที่จะซื้อเพิ่ม โดยคาดหวังกำไรที่มากขึ้น ไอเดียในการเทรดของทั้งสองคนเหมือนกัน แต่ผลลัพท์ที่ได้นั้นต่างกัน

การบริหารการเทรดนั้นเป็นข้อแตกต่างระหว่างเทรดเดอร์ที่ทำกำได้อย่างสม่ำเสมอ กับเทรดเดอร์ที่ล้มเหลว เทรดเดอร์ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องทำอะไรหลังจากเข้าเทรดแล้ว เพียงรอราคาวิ่งไปถึงเป้าหมาย หรือจุดตัดขาดทุนเพียงอย่างเดียว ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่เทรดเดอร์มีในขั้นตอนการวางแผนการเทรดจนกระทั่งเข้าเทรดนั้นน้อยเกินกว่าจะใช้พิสูจน์ความถูกต้องของไอเดียในการเทรด การเคลื่อนไหวของตลาด พฤติกรรมราคาหลังจากเข้าเทรดนั้น ถึงจะเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถพิสูจน์ไอเดียในการเข้าเทรดว่าได้อย่างแท้จริงว่ามันถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นการบริหารการเทรดหลังเข้าเทรดแล้วจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น การบริหารการเทรดจึงหมายถึงการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหลังจากเข้าเทรดอย่างไกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อราคาหุ้นลงไปทดสอบแนวรับสำคัญ และคาดว่าราคาจะทะลุแนวรับ ซึ่งหากเป็นไปตามคาด เทรดเดอร์สามารถทำกำไรจากการ short ได้ สิ่งที่ควรทำคือเปิด short ไว้ก่อนเพียงเล็กน้อย เช่น 100 หุ้น โดยทั่วไปแล้วเมื่อราคาทะลุแนวรับลงไป เหล่า scalpers และ algorithms จะทำการ scalping เพื่อทำกำไรในกรอบแคบ ๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อเหล่า scalpers ขายทำกำไร จะทำให้ราคาดึงกลับมาทดสอบแนวต้าน (แนวรับเดิม) หากราคาทะลุแนวต้านขึ้นมา เทรดเดอร์ต้องปิด short เพื่อตัดขาดทุนเพียงเล็กน้อย แต่หากไม่ทะลุ จะเป็นอกาสที่ดีในการเปิด short เพิ่มเต็มจำนวนที่กำหนด

กฎสำคัญข้อหนึ่งของการเทรดให้มีกำไรอย่างสม่ำเสมอคือการแบ่งขายทำกำไรเมื่อทิศทางราคาเป็นไปตามที่คาด โดยการแบ่งขายนั้นมีวิธีการดังนี้ การแบ่งขายแบบ ½ และการแบ่งขายแบบ ¼ ของจำนวนหุ้นที่มี ยกตัวอย่างเช่น มีหุ้นในมือทั้งหมด 1000 หุ้น ใช้การแบ่งขายแบบ ½หรือครึ่งหนึ่งทุกครั้งที่ราคาวิ่งไปถึงเป้าหมายที่กำหนด เป้าหมายแรกขายทำกำไร 500 หุ้น (1000/2) และเมื่อราคาวิ่งขึ้นไปถึงเป้าหมายที่สอง ขายทำกำไรออกไปอีก 250 หุ้น (500/2) เมื่อราคาวิ่งไปถึงเป้าหมายที่สาม ขายอีก 125 หุ้น (250/2) เป็นต้น

หลักการพื้นฐานที่ช่วยให้การเทรดประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่เพียงสองข้อ

  1. อย่าปล่อยที่เทรดที่มีกำไรอยู่กลายเป็นขาดทุน
  2. จุดตัดขาดทุนต้องเลื่อนตามทิศทางราคาหุ้นอยู่เสมอ

ก่อนการเข้าเทรดทุกครั้ง จำเป็นต้องมีแผนการเทรดที่ชัดเจน ซึ่งก็คือจุดเข้า, จุดตัดขาดทุน, ขนาดหรือจำนวนหุ้นที่จะเทรด (position sizing) และจุดขายทำกำไรเมื่อเข้าซื้อแล้ว และราคาหุ้นวิ่งไปตามที่คาดการณ์ ต้องคอยปรับปรุงจุดตัดขาดทุนให้ล้อตามราคาที่วิ่งขึ้นไป (Trailing stop)และต้องขายทำกำไรตามจุดที่กำหนดไว้ด้วยจำนวนหุ้นตามอัตราส่วนที่กำหนด

การอ่านแท่งเทียนนั้นช่วยให้เทรดเดอร์ตัดสินใจในการเทรดได้ถูกทาง แต่ไม่อาจช่วยให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริการเทรดที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย ถึงจะช่วยให้สามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืน


บทความนี้เป็นการทำความเข้าใจ ส่วนหนึ่งของหนังสือ Advanced Techniques in Day Trading ว่าด้วยเรื่อง Price Action and Mass Psychology