ริเน็น - สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น

นิคเคอิ บีพี ได้ทำการสำรวจบริษัทที่มีอายุมากกว่า 200 ปีทั่วโลก ประเทศที่มีจำนวนบริษัทมากที่สุดสามอันดับแรกได้แก่

  1. ญี่ปุ่น : 3,113 บริษัท
  2. เยอรมนี : 1,563 บริษัท
  3. ฝรั่งเศส : 331 บริษัท

ทำไมบริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากถึงมีอายุที่ยืนยาวอย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ ความลับทั้งหมดในการสร้างและบริหารบริษัทให้ยั่งยืนของคนญี่ปุ่นซ่อนอยู่ในคำสองคำสั้น ๆ นั่นคือคำว่า “ริเน็น”

ริ หมายถึง “เหตผล” และคำว่า เน็น หมายถึง “สติ” คำสั้น ๆ สองคำที่เป็นปรัชญาพื้นฐานที่เรียบง่ายที่ทำให้บริษัทมั่นคงและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้เปรียบเทียบบริษัทที่ยั่งยืนของญี่ปุ่นเป็น “ต้นสน” อันประกอบไปด้วยกิ่งก้านที่สำคัญอยู่ 4 กิ่ง ได้แก่ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และ สังคม

| รากต้นสน แก่นแท้ของธุรกิจที่ยั่งยืน |

จุดเริ่มต้นของบริษัทประเภทต้นสนส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากความต้องการช่วยเหลือผู้อื่นหรือช่วยเหลือสังคม โดยผ่านทางสินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นหลัก ผู้บริหารทุกรุ่นของบริษัทล้วนยึดมั่นในเจตนารมณ์ของบริษัท และหมั่นทบทวนอยู่เสมอว่าบริษัทอยู่เพื่ออะไร? ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่กำไรหรือยอดขาย แต่คือคำถามที่ว่าการดำเนินงานของบริษัทยังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งหรือไม่? ดังนั้น ริเน็น ของบริษัทเหล่านี้มักจะกล่าวถึงประโยชน์ที่บริษัทตั้งใจจะส่งมอบให้กับลูกค้าและสังคม ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของบริษัทที่ต้องถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น ริเน็นของบริษัทต้นสนจึงไม่ใช่แค่คำที่เขียนไว้ประดับให้ดูดีเท่านั้น แต่คือสิ่งที่ต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย

| กิ่งสนที่ 1 | พนักงาน

บริษัทต้นสน จะให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับแรก ซึ่งแตกต่างจากหลาย ๆ บริษัทในปัจจุบันที่จะวางพนักงานไว้ลำดับท้าย ๆ ลูกค้าและผู้ถือหุ้นคือบุคคลสำคัญลำดับต้นๆ เนื่องจากบริษัทต้นสน มีความเชื่อว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับพนักงาน และดูแลพวกเขาอย่างดี เมื่อพนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดี มีชีวิตที่ดี เขาก็จะทำงานให้เราอย่างดีเช่นกัน และตลอดระยะเวลานานหลายร้อยปีก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ บริษัทต้นสน แทบไม่มีพนักงานลาออกเลยในรอบหลายสิบปี

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างบริษัทประเภทต้นสนกับบริษัททั่วไปคือ บริษัทต้นสนถือว่าพนักงาน คือสินทรัพย์อันมีค่าของบริษัท ถือเป็นคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามบริษัทก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาพนักงานไว้ ดังนั้นบริษัทประเภทนี้จึงไม่เคยปลดพนักงานออก ในขณะเดียวกันบริษัททั่วไปมักจะมองว่าพนักงานคือต้นทุน ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ต้องลดต้นทุน การลดพนักงานจึงเป็นวิธีแรก ๆ ที่เลือกใช้

| กิ่งสนที่ 2| คู่ค้า

คู่ค้าในที่นี้หมายถึงบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นส่วนสนับสนุนหรือช่วยเหลือบริษัทในด้านต่าง ๆ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น ซัพพลายเออร์ บริษัทขนส่ง บริษัทเอเจนซี่โฆษณา บริษัทที่ปรึกษา เป็นต้น บริษัทต้นสน จะไม่มองคู่ค้า เป็นเพียงคู่ค้า แต่เขามองว่าคู่ค้าคือเพื่อนที่สำคัญที่สุด ที่จะเดินทางและเติบโตไปพร้อมกับบริษัท ดังนั้นนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับคู่ค้าของบริษัทต้นสนจึงมุ่งเน้นไปที่การได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก

บริษัทต้นสนมุ่งเน้นที่จะสร้างและสานสัมพันธ์กับคู่ค้าให้ยืนยาว มากกว่าการมองหาคู่ค้ารายใหม่ ๆ เพราะเขาเชื่อว่า คู่ค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทย่อมทุ่มเทที่จะตอบสนองสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบริษัท เปรียบเสมือนเพื่อน ที่ย่อมอยากให้เพื่อนได้รับแต่สิ่งดี ๆ ดังนั้นการพิจารณาจะตกลงเป็นคู่ค้ากับใครจึงต้องศึกษาอุปนิสัยใจคอกันให้ถ่องแท้ ไม่ใช่ดูแค่ราคาเป็นหลัก

| กิ่งสนที่ 3| ลูกค้า

บริษัทต้นสนไม่ได้มีกำไรหรือยอดขายเป็นเป้าหมายหลัก แต่มองว่าบริษัทมีหน้าที่รับใช้สังคมหรือทำให้คนในสังคมมีความสุข ดังนั้นจุดเริ่มต้นของบริษัทต้นสนจึงเกิดจากความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และสร้างความสุขให้กับลูกค้าเป็นหลัก เพื่อความสุขของลูกค้า ราคาของสินค้าของบริษัทเหล่านี้จึงไม่ตั้งราคาสูงจนเกินไป บริษัทยอมสูญเสียกำไรไปส่วนหนึ่งเพื่อให้ทุกคนสามารถซื้อสินค้าไปใช้ได้ จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราทุ่มเทและคิดค้นสินค้าเพื่อลูกค้า แต่กลับตั้งราคาที่สูงจนเขาเหล่านั้นไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้

บริษัทต้นสนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว มากกว่าการฉวยโอกาศทำกำไรหรือตักตวงผลประโยชน์ ถึงแม้ว่าในบางครั้งบริษัทสามารถที่จะทำได้ แต่บริษัทเลือกที่จะไม่ทำ ความจริงใจแบบนี้ทำให้บริษัทรักษาฐานลูกค้าไว้ได้และเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

บริษัทไม่ได้กำลังขายสินค้าหรือบริการ แต่บริษัทกำลังขายความเชื่อมั่นและความใว้วางใจ ทุกครั้งที่ลูกค้าซื้อสินค้า พวกเขามีความเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าสินค้าที่เขาซื้อคือสิ่งที่จะช่วยเขาแก้ปัญหา หรือสร้างความสุขให้แก่เขาได้อย่างแท้จริง เมื่อลูกค้ามีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในสินค้าหรือบริการของบริษัท เขาเหล่านั้นย่อมมีความยินดีที่จะบอกต่อคนอื่นอย่างภาคภูมิใจ และนั่นจะทำให้ลูกค้าใหม่ ๆ เดินเข้ามาหาสินค้าของบริษัทเอง โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องโฆษณาป่าวประกาศ

| กิ่งสนที่ 4| สังคม

บริษัทต้นสนล้วนก่อตั้งขึ้นเพื่อรับใช้สังคมและผู้คนเป็นหลัก ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงยึดมั่นในปณิธาน และเจตนารมณ์ของบริษัทอย่างเคร่งครัด ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงมาก บางครั้งมากถึงขนาดยอมเสียสละรายได้หรือกำไรมหาศาล เพื่ออยู่รับใช้สังคมดังเช่นบริษัทที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างในหนังสือ

บริษัทต้นสนมองว่าการจ่ายภาษีคือการคืนกำไรสู่สังคมที่ดีที่สุดและถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อประเทศชาติ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงไม่มีนโยบายที่จะลดการจ่ายภาษีเลย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่เราควรประหยัดคือค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ภาษี”

แนวคิดหนึ่งเป็นรากฐานของการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมของบริษัทต้นสนคือ ความรู้สึกขอบคุณ อย่างสุดซึ้งต่อสังคมที่ให้โอกาศบริษัทได้รับใช้สังคม หากปราศจากโอกาศนี้แล้ว บริษัทย่อมไม่สามารถตั้งอยู่และดำเนินกิจการต่อไปได้ ผู้บริหารบริษัทจึงพยายามหาวิธีที่จะตอบแทนบุญคุณแก่สังคมอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้เห็นจากบริษัทที่ผู้เขียนได้ยกมาเป็นตัวอย่างเป็นต้น

แด่กล้าสนต้นใหม่

“ถ้าบริษัทของคุณได้อันตรธานหายไปในวันนี้ พรุ่งนี้โลกจะยังเหมือนเดิมหรือไม่?” หากลูกค้าก็ไม่ได้รู้สึกลำบาก คู่ค้าก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจ และบริษัทก็ไม่มีอะไรให้สังคมต้องจดจำ นั่นหมายความว่าบริษัทยังไม่ได้สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ผู้คนและสังคมมากพอ

บทส่งท้าย

คำว่า “ธุรกิจ” จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มี “คน” ดังนั้นธรุกิจใด ๆ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหา หรือสร้างความสุขให้กับ “คน” ล้วนไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืน การที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือ “คน” เพราะกิ่งสนทุกกิ่งล้วนเกี่ยวข้องกับคนทั้งสิ้น

ขอขอบคุณ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ที่เขียนหนังสือดี ๆ ที่ให้มุมมองที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งให้ได้อ่าน และนี่ไม่ใช่แค่หนังสือธรรมดา ถือได้ว่าเป็นตำราที่ทรงค่าสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง