Secrets of the Millionaire Mind: Wealth File 15
Rich people have their money work hard for them. Poor people work hard for their money.
คนส่วนใหญ่มักจะเติบโตมากับคำสอนที่ว่า "จงทำงานหนักเพื่อที่จะได้มีเงินทองมาก ๆ" เราถูกปลูกฝังให้ทำงานเพื่อเงินมาตั้งแต่เด็ก น้อยคนนักที่จะถูกสอนให้รู้จักการใช้เงินทำงาน การรู้จักการทำงานเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่สำคัญ เว้นเสียแต่ว่าการทำงานหนักเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ร่ำรวยได้ เรื่องเหล่านี้เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะมันมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่แล้ว หากลองพิจารณาถึงชนชั้นในสังคม จะเห็นได้ว่าคนชนชั้นใดที่ทำงานหนักที่สุด ทำงานนานที่สุด เขาเหล่านั้นคือคนจนและคนชั้นกลาง ขณะที่คนรวยส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการตีกอล์ฟ ดื่มชา และปาร์ตี้ วัน ๆ แทบจะไม่ทำงานเลย คำถามคือแต่ทำไมคนเหล่านี้ถึงได้รวยขึ้นๆ เรื่อย ๆ คำตอบคือคนเหล่านี้ใช้เงินทำงาน เงินทั้งหมดที่เขาเหล่านี้มีไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะมาถึงจุดนี้ได้ล้วนแล้วแต่ผ่านการทำงานหนักมาแทบทั้งสิ้น แต่การทำงานหนักของคนรวยเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่เหมือนกับคนจนที่ต้องทำงานหนักทั้งชีวิตเพียงเพื่อให้พอมีกินมีใช้ คนรวยรู้จักการใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ มาช่วยทำให้เขาทำเงินได้มากขึ้น และเครื่องทุ่นแรงก็มีมากมายหลายหลากให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นการจ้างคนอื่นมาทำงานแทน การลงทุนซื้อเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้นเป็นต้น
เงินก็คือพลังงานชนิดหนึ่ง เราแปลงพลังงานของเราเป็นเงิน และเมื่อเรามีเงินแล้วเราก็จำเป็นต้องรู้จักใช้พลังของเงินตราให้เกิดประโยชน์ ยิ่งบริหารเงินให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ภาระของเจ้าของเงินตราก็ยิ่งเบาบางลงเท่านั้น จนกระทั่งนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินอย่างสมบูรณ์ในที่สุด
เราจะไม่สามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้หากปราศจากสิ่งที่เรียกว่า Passive Income หรือเงินได้ที่ได้มาโดยไม่จำเป็นต้องทำงาน ไม่มีเงินทองที่ไม่มีวันใช้ไม่หมดเว้นเสียแต่มันจะงอกเงยขึ้นมาเองได้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้เงินที่เรามีอยู่งอกเงยได้ทันกับรายจ่ายหรือมากกว่า ปัญหานี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคล ไม่มีกลยุทธ์หรือวิธีการใดที่จะสมบูรณ์และได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการวางแผนและพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ แผนการเดียวกันแต่ในบริบทที่ต่างกันย่อมให้ผลที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นอย่ายึดติดอยู่กับแผนการหรือวิธีการเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พลิกแพลงให้ตรงกับบริบทหรือสถานการณ์เฉพาะหน้า
สำหรับเรื่องเงินแล้วความแตกต่างอีกประการที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างคนจนกับคนรวย คือ คนรวยมองการไกล คนจนส่วนไหนให้ความสำคัญสำหรับเรื่องเฉพาะหน้า เรามักจะได้ยินคนเหล่านี้พูดว่า ฉันจะคิดถึงเรื่องของพรุ่งนี้ได้อย่างไรในเมื่อวันนี้ยังแทบเอาตัวไม่รอด และสิ่งที่น่าแปลกที่สุดคือ เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึงเราก็จะได้ยินคนพูดประโยคเดิมๆ นี้อีก เงินทองของคนจนที่ได้จากการทำงานหนักจะถูกตอบสนองความต้องการอย่างเต็มที่ เมื่อสิ้นเดือนหรือจบวันรับค่าแรง คนจนจะเฉลิมฉลองความเหนื่อยยากอย่างเต็มที่ด้วยการกินอยู่เมามายอย่างอิ่มหนำสำราญและมักจะจบด้วยประโยคที่ว่า "กินให้เต็มที่เดียวพรุ่งนี้หาใหม่" ขณะที่เงินทองที่ได้จากการทำงานหนักของคนรวยจะถูกเก็บออมเอาไปลงทุนเพื่ออนาคต เขาเหล่านั้นยามลำบากมักจะกินอยู่อย่างประหยัดใช้จ่ายอย่างอดออม จนกระทั่งติดเป็นนิสัย แม้กระทั่งเมื่อรวยแล้วก็ยังไม่ทิ้งนิสัยประหยัดมัธยัสถ์เมื่อครั้งยากลำบาก ดังที่เราจะเห็นมหาเศรษฐีหลายคนใช้ชีวิตเรียบง่ายเช่น วอร์เรน บัพเฟตต์ เป็นต้น
ขอเล่าเสริมถึงที่มาของเมนูหัวปลาหม้อไฟว่าทำไมถึงเป็นอาหารของเหล่าเจ้าสัว เมนูนี้มีที่มาว่าในสมัยก่อนคนจีนเข้ามาเป็นจับกังอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและมีฐานะลำบากยากแค้นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยธรรมชาติในสมัยก่อนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ปลาจึงมีมากมาย คนส่วนใหญ่จึงนิยมกินเฉพาะเนื้อปลา ส่วนหัวมักจะตัดทิ้ง ดังนั้นตามท่าเรือต่าง ๆ เมื่อเรือประมงนำปลามาขึ้น ขั้นตอนแรกในการชำแหละคือตัดหัวปลาทิ้งแล้วเอาเฉพาะเนื้อไปขาย ด้วยความยากจน ทุกวันก่อนกลับบ้านเหล่าจับกังจะหาเก็บหัวปลาที่เขาตัดทิ้งติดมือกลับไปทำอาหารประทังชีวิตด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปคนเหล่านี้ร่ำรวย หลายคนเป็นเจ้าสัวใหญ่ แต่ก็ยังไม่เคยลืมรสชาติของความทุกข์ยากในวานวัน การกินหัวปลาแท้ที่จริงแล้วเป็นการรำลึกถึงความยากลำบากที่ผ่านมา ถึงขนาดที่ว่าเจ้าสัวบางคนเมื่อเห็นหัวปลาหม้อใฟถึงกับหลั่งน้ำตา คนทั่วไปพบเห็นเหล่าเจ้าสัวกินหัวปลากันอย่างเอร็ดอร่อยเลยคิดว่ามันเป็นอาหารเลิศรสและทำให้มันกลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
ดังนั้นหากคนยังไม่มีเงิน จงทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินมา และเมื่อมีเงินแล้ว จงเรียนรู้ที่จะบริหารเงินให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วสิ่งที่เรียกว่า "อิสรภาพทางการเงิน" จะไม่ใช่เพียงภาพเพ้อฝันอีกต่อไป